สมช.หารือ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. พิจารณาร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถี ปชช. จชต.
สมช.หารือ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. พิจารณาร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถี ปชช. จชต.
ที่ ห้องประชุมน้ำพราว โรงแรมซีเอส อ.เมือง จ.ปัตตานี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารฯ ศอ.บต. ได้นำเสนอประเด็นปัญหาเพื่อให้ สมช. จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาใน 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการศึกษา ความมั่นคง การปรับสมดุลในภาครัฐ เศรษฐกิจ การสร้างโอกาส ความเสมอภาคด้านสังคมและด้านการสื่อสารสร้างความเข้าใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานในการรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อนำไปปรับร่างนโยบายการบริหารให้สอดคล้องกับการบริหารงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของทุกหน่วยราชการในพื้นที่
สำหรับร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการร่างวัตถุประสงค์และแนวนโยบาย เพื่อรองรับการพัฒนาและความมั่นคงในพื้นที่ 6 ประการ 1.เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยและความสงบสุข ปราศจากเงื่อนไข การเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย 2.ขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติภายใต้ และเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 3.พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้เป็นธรรม ทั่วถึงและขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม รวมทั้งลดความหวาดระแวงทุกรูปแบบ และฟื้นคืนความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน 4.ยกระดับการพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง 5. พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ให้เกิดผลต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6.เสริมสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาฯ ศอ.บต.ได้เสนอข้อคิดเห็น ใน 6 ประเด็น ที่เกี่ยวข้อง อย่างหลากหลาย อาทิ ในประเด็นของการศึกษา มีการเสนอให้ดูแล และปรับแผนการสนับสนุนในการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด จำเป็นต้องมีการเรียนการสอนวิชาศาสนาควบคู่กับวิชาสามัญ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ให้ความสำคัญทั้งโลกนี้และโลกอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่ได้การสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร มีปัญหาหลากหลายซึ่งโรงเรียนและพื้นที่ต้องแบกรับกันเอง จึงขอให้ สมช.พิจารณาโครงการการศึกษาในพื้นที่ให้ตรงกับความเป็นจริง และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
ในประเด็นเรื่องศาสนาพุทธ ตัวแทนเจ้าอาวาสจาก จ.สงขลา และ จาก จ.ปัตตานี ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องพหุวัฒนธรรม ที่ต้องปรับให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงของสังคม เรื่องความคิดสุดโต่งและความไม่เข้าใจในเรื่องศาสนา โดยมีการเสนอแนะให้ผู้นำศาสนาและคนมุสลิมในพื้นที่ต้องเข้าใจ บริบทของศาสนาพุทธด้วยไม่ใช้ให้คนพุทธผู้นำศาสนาพุทธเข้าใจในเรื่องของ ศาสนามุสลิมเพียงอย่างเดียว
ในเรื่องของภัยแทรกซ้อนคณะการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้นำเสนอปัญหาภัยแทรกซ้อนที่ สมช.ต้องเร่งดำเนินการคือ ภัยแทรกซ้อนจาก องค์กรจากต่างประเทศ ที่เข้ามาอยู่ปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการล่วงล้ำอธิปไตย และชักศึกเข้าบ้าน และภัยแทรกซ้อนที่มีองค์กรบางองค์นำเอาเรื่องศาสนามาเป็นประเด็นความขัดแย้ง จากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นการนำไฟจากสามจังหวัดไปลุกลามยังพื้นที่อื่น ซึ่งเป็นภัยแทรกซ้อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ
เช่นเดียวกับเรื่องการสื่อสารและทำความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพที่แท้จริง รวมทั้งเรื่องของ “ข่าวปลอม” หรือ “เฟสนิวส์” ที่ยังขาดการเอาใจใส่จาก กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เรื่องของการ สื่อสาร เป็นเรื่องใหญ่ เช่นเดียวกับเรื่องการทำความเข้าใจ เพราะประเด็นปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจาก การสื่อสารทำความเข้าใจ ระหว่างรัฐกับประชาชนล้มเหลว ก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงตามมามากมาย แต่รัฐกลับจัดปัญหาเรื่องการสื่อสารและทำความเข้าใจการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องลำดับท้ายๆ ของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในอนาคตเรื่อง”สื่อ”และ”สาร” คือเรื่องสำคัญที่สุดของปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรู้เท่าทันและมียุทธศาสตร์ในการแก้
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา