สระแก้ว-นายกสมาคมชาวไร่อ้อย แถลงข่าว การเผาอ้อยก่อนตัด วอนเกษตรกรงดการเผาอ้อย มีโทษ ปรับ 1 แสน ติดคุก 7 ปี 

สระแก้ว-นายกสมาคมชาวไร่อ้อย แถลงข่าว การเผาอ้อยก่อนตัด วอนเกษตรกรงดการเผาอ้อย มีโทษ ปรับ 1 แสน ติดคุก 7 ปี  ตามที่มีกระแสข่าวว่า จังหวัดสระแก้ว มีมาตรการลดการเผาอ้อย ก่อนตัด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยมีโทษ จำคุก 7 ปี ปรับ 1 แสนบาทนั้น

 


***** เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 22 มกราคม 2563 นายมนตรี คำพล นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จังหวัดสระแก้ว เผยว่าจังหวัดสระแก้วมีอ้อยอยู่ประมาณ 3 ล้านตัน ปริมาณลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 1.5 ล้านตัน เพราะประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้เราก็ได้รับนโยบายจากรัฐบาลเรื่องปัญหามลพิษ PM 2.5 การเผาอ้อยก่อนตัด กระทบถึงกรุงเทพมหานคร เราเองก็พยายามจะแก้ไขปัญหา มีการรณรงค์กับสมาชิกชาวไร่อ้อยโดยพยายามให้ตัดอ้อยสด แต่ติดปัญหาแรงงานลดลง เนื่องจากกัมพูชาเศรษฐกิจดีขึ้น แรงงานเข้ามาน้อย และอีกประเด็น คือปัญหาภัยแล้ง ปริมาณอ้อยลดลง อ้อยก็ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ มีการเผาอ้อยแต่ก็เป็นบางส่วน แต่ปริมาณอ้อยสดเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วพอสมควร ปริมาณอ้อยไฟไหม้ประมาณ 50 % เท่านั้น

และตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กระทรวงนำเสนอให้ใช้เครื่องจักรตัดอ้อยนั้น ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพราะชาวไร่อ้อยต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ ให้เหมาะที่จะใช้เครื่องจักรได้ ต้องเป็นพื้นที่ราบ ปัญหาอีกอย่าง คือโรงงงานไม่กล้าค้ำประกัน ในการซื้อเครื่องจักรให้ เพราะว่าหนี้สินชาวไร่ และราคาอ้อยตกต่ำมา 3 ปีแล้ว ก็มีหนี้สินผูกพันกับโรงงานน้ำตาลอยู่ โรงงานก็ไม่ค้ำประกันให้ก็เป็นสิ่งที่ยากลำบากกับชาวไร่อ้อย สำหรับ การเผาไร่อ้อย ทางสมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือ กับเกษตรกรให้ลดการเผาอ้อย เพราะก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ในขณะที่พื้นที่ปลูกของชาวไร่อ้อย เป็นพื้นที่เล็ก ๆ จะมีปัญหาการใช้เครื่องจักร ขณะนี้ได้ให้นักวิชาการมาวิจัยอยู่ว่า ใช้เครื่องจักรใดเหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ทางสมาคมฯ พยายามแก้ไข พยายามประสานกับสมาชิกเพื่อลดการเผาอ้อย โดยผู้ที่ตัดอ้อยสด หลังปิดหีบอ้อยแล้ว จะมีรายได้เพิ่ม ประมาณตันละ 160 บาท อ้อยไฟไหม้ก็จะได้ไม่เกินตันละ 70 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกร ตัดอ้อยสด และในปีต่อไปนั้น ทางรัฐบาล อาจจะช่วยเฉพาะอ้อยสดเท่านั้น เพื่อให้ชาวไร่ลดพื้นที่เผาอ้อย


***** สำหรับ นายบำเพ็ญ นะภา เกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวว่า สาเหตุที่เผาอ้อยก่อนตัด ส่วนใหญ่มาจากการขาดแรงงาน แรงงานส่วนนี้มาจากกัมพูชา ตอนนี้ทางรัฐบาลมีนโยบายห้ามเผา แต่แรงงานไม่ยอมตัด เนื่องจากอ้อย ต่อ 2 ตอ 3 หรือตอ 4 ต้นอ้อยจะไม่ตรง เหมือนอ้อยปีแรก ทำให้การสางใบลำบากและเสียเวลานาน เมื่อแรงงานไม่ยอมตัดก็จำเป็นต้องเผา ถ้าไปบังคับให้แรงงานตัดอ้อยสด แรงงานก็หนีกลับหมด
ที่มีกฎหมายออกมาห้ามเผาอ้อย จะมีโทษหนักนั้น เกษตรกร ก็ตอบสนองนโยบายเช่นเดียวกัน ได้พยายามให้คนงานตัดสะดวกขึ้นมีการซื้อเครื่องสางใบ แล้วให้แรงงานเข้าไปตัด ก็ตัดได้เยอะขึ้น สำหรับอ้อยสด แต่ปัญหาว่า อ้อยอายุ 2-3 ปีแล้ว ใช้เครื่องจักรไม่ได้

เนื่องจาก ต้นมันล้ม อ้อยจะต้องตั้งต้องยืน จึงจะใช้เครื่องจักรเข้าไปสางใบได้ แต่การสางใบก็เพิ่มต้นทุน เพราะว่า ตัวเครื่องจักรและตัวรถด้วย ราคาประมาณ 3-4 แสนบาท และใช้เอ็นเป็นตัวปั่น วันหนึ่งก็ใช้หมด 1 กิโลกรัม ตก 500 บาท ยังไม่รวมค่าแรงคนขับยังไม่รวมค่าน้ำมัน ต้นทุนสูงขึ้น และที่มีข่าวว่า ทางจังหวัดสระแก้ว มีมาตรการห้ามเผาอ้อย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1 แสนบาท เรามองว่าตอนนี้ เรื่องการลงโทษ ติดคุก 7 ปี ปรับ 1แสนบาท เราก็มองว่า เราตกเป็นจำเลยสังคม ตกเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดิน เราก็คิดอยู่เสมอว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ต้องเลิกอาชีพนี้ ผมพูดตามตรงเลยว่า ต้องยุติการปลูกอ้อยหันไปปลูกพืชอย่างอื่น เพราะเราไม่มีทางเลือก เดี๋ยวนี้โทษหนักกว่าลักทรัพย์ปล้นทรัพย์ สำหรับชาวไร่อ้อย ถ้าห้ามเผาทุกลำอ้อย ชาวไร่ขาดทุนยับเยิน ถ้ามีการจับจริงก็จับทั้งจังหวัด จับทั้งประเทศด้วย

ภาพ/ข่าว สมศักดิ์ สารการ รายงาน