(สกู๊ปข่าว เมือง ไม้ขม )  หรือคนส่วนใหญ่ยอมให้ เอ็นจีโอ เป็นผู้กำหนด ชะตากรรมของประเทศ

(สกู๊ปข่าว เมือง ไม้ขม )  หรือคนส่วนใหญ่ยอมให้ เอ็นจีโอ เป็นผู้กำหนด ชะตากรรมของประเทศ

 

ในที่สุด เอ็นจีโอ ที่เป็นผู้นำชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในการคัดค้านโครงการ”เมืองต้นแบบ” หรือ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ใช้ “ลูกไม้”เดิมๆ ในการคัดค้าน เพื่อมิให้มีการ เดินหน้า ในการ ก่อสร้างเมืองต้นแบบ ด้วยการ นำพลพรรค มานอนหน้า ศาลากลาง เพื่อเป็นการประท้วงจังหวัดสงขลา ยกเลิกการเปลี่ยนผังเมือง จากผังเมืองการเกษตรมาเป็นผังเมืองอุตสาหกรรม ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในการทำโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4 “ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้

ครั้งที่แล้ว ก็มีการใช้”ลูกไม้”แบบนี้ โดยส่ง เด็กสาวที่ถูกยกย่องให้เป็น “ลูกสาวแห่งท้องทะเล” มานอนหน้าศาลากลางสงขลา 2 คืน เพื่อประท้วงให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ จน ศอ.บต. ต้องเลื่อนการ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้วครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ เอ็นจีโอ เปลี่ยน กลยุทธ์ จากการใช้ “ลูกสาวท้องทะเล” ที่เป็นผลผลิตรุ่นใหม่ มาเป็น เอ็นจีโอ”ตัวพ่อ” ที่เป็น”รุ่นเดอะ” ที่เคยเป็นผู้นำคัดค้านโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย เมื่อ 20 ปีก่อน มานอนหน้าศาลกลางสงขลา เพื่อให้ จังหวัดยกเลิกการเปลี่ยนผังเมือง

และในวันที่ 2 ตุลาคม ก็จะมีการระดมพลครั้งใหญ่จาก เอ็นจีโอ จากนอกพื้นที่เข้ามา ยึดพื้นที่หน้าศาลากลาง เพื่อเปิดเวที ในการโจมตี โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ซึ่ง เอ็นจีโอ ในพื้นที่ “มีธง” ในการที่จะ ไม่เห็นด้วย และทำการคัดค้านจนถึงที่สุด

แสดงให้เห็นว่า 20 กว่าปีของ เอ็นจีโอ ในพื้นที่ จ.สงขลา และภาคใต้ ไม่ได้มีอะไรใหม่ มีเพียงการใช้ “ไม้ตาย” ในการ ขัดขวาง ทุกโครงการที่ไม่เห็นด้วย ด้วยการ 1.“นอนหน้าศาลากลาง” 2. “นอนขวางถนน” และ 3.” คือ “บุกยึดเวที” เพื่อ ล้มการ ทำประชาพิจารณ์ การล้มเวทีแสดงความคิดเห็น หรือไม่ก็ทำการ ยั่วยุ เพื่อให้มีการ ปะทะ กับเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะได้ ออกข่าวว่า เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง

เรื่องการ ประท้วง โดยการ นอนหน้า ศาลากลาง และ ต่อด้วยการ เปิดเวทีหน้าศาลากลาง เพื่อที่จะอาศัย ความเห็นของคนจำนวนไม่ถึง 200 คน ในพื้นที่ อ.จะนะ ที่ไม่เห็นด้วย และ”ไม่เอา” การพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรม เกษตร อุตสาหกรรมที่ไม่มี ปิโตรเคมี และเป็น อุตสาหกรรม”ฮาลาล” ในครั้งนี้ ก็เหมือนกับการประท้วง ไม่เอา โครงการอื่นๆ ในภาคใต้ทุกแห่ง

โดยที่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ไม่เคารพ ความคิดเห็นของคนส่วนมาก เพราะคนส่วนมากใน อ.จะนะ ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการท่าเรือน้ำลึก เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อภาคการเกษตร ในการขนสิ่งสินค้าเกษตรกรต่างๆ รวมทั้งยางพารา ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของคนใต้สู่ประเทศที่ 3 เพื่อให้ อาชีพเกษตรกร สามารถ “ลืมตาอ้าปากได้”

คนจะนะ และคนในจังหวัดใกล้เคียง ต้องการเห็นการเกิดขึ้นของ “เมืองต้นแบบที่ 4 “ เพื่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 100,000 อัตรา เพื่อให้ คนรุ่นใหม่ ที่จบใหม่ มีงานทำ มีที่”หยั่งเท้า” ไม่ต้องกลายเป็นคนว่างงาน และเป็นปัญหาของสังคม รวมทั้งหากเกิด การสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในพื้นที่จะต้องมี การลงทุนในธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายตามมา ซึ่งหมายถึง โอกาส ของคนในพื้นที่ ที่มากขึ้น

ที่ผ่านมา ไม่ใช่การจัดเวทีต่างๆ มีการปิดกั้น ไม่เชิญ เอ็นจีโอ เข้าร่วมเวที แต่ที่ทุกเวทีตัดสินใจไม่เชิญ เอ็นจีโอ เข้าร่วมเวที เป็นเพราะ การเข้าร่วมเวทีของ เอ็นจีโอ นั้น เอ็นจีโอ มีธง อยู่แล้วว่า”ไม่เอา” และไม่รับฟัง ข้อมูลใดๆ ของเจ้าของโครงการ นอกจากคำว่า เป็นโครงการที่ “ทำลายล้าง” ทรัพยากร และ สร้าง มลภาวะ ให้กับคนในแผ่นดิน

วันนี้ โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” จึงไม่สามารถมี เวทีที่จะสร้างความเข้าใจกันได้ เพราะฝ่ายที่เห็นด้วย และสนับสนุน พร้อมที่จะ “พูดคุย” ทำความเข้าใจ เพื่อหาทางออกร่วมกันกับ กลุ่มผู้เห็นต่าง ที่ เอ็นจีโอ เป็นผู้นำ แต่เมื่อ เอ็นจีโอ ที่เป็นกลุ่มผู้ คัดค้าน ไม่เปิดโอกาสที่ฟังข้อมูล แต่มีการประกาศแล้วว่า”ไม่เอา” ทางออกของการ “พูดคุย” จึงกลายเป็นการ”ปิดตาย” ไปโดยปริยาย

วันนี้ ที่”คัดค้าน “ และผู้ที่”เห็นด้วย” จึงต้องยืนคนละมุม กลายเป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ ผลักดัน ให้เกิด “เมืองต้นแบบที่ 4” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และของพื้นที่ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่จะให้”จมปลัก” ดักดานอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป

รัฐจึงต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน โดยเฉพาะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจ นำจังหวัดนำประชาชน”เดินหน้า” ไปสู่การพัฒนา จะต้อง กล้า ที่จะตัดสินใจ และไม่กลัว เสียงของกลุ่มผู้ คัดค้าน โดยต้องคำนึงถึง เสียงของคนส่วนใหญ่ที่เห็นด้วย ซึ่งได้รวมร่วมรายชื่อเป็นหมื่นๆ คน เพื่อส่งให้กับ รัฐบาล ได้เห็นถึงความต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ด้วยการเกิดของ “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ

ดังนั้น จังหวัดสงขลา รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ จะต้องตัดสินใจให้ชัดเจน ว่า จะเคารพเสียงคน”ส่วนน้อย” โดยที่ ไม่ต้องพัฒนาประเทศ หรือทำตามเสียงส่วนใหญ่ เพื่อเปลี่ยนประเทศเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ และคนในพื้นที่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น

ที่สำคัญที่สุดวันนี้ คนในพื้นที่ ซึ่งต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ต้องกล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของท่าน อย่าให้ เอ็นจีโอ เพียง”หยิบมือ” ปล้นชิงโอกาส โดยใช้วิธีการ”นอนหน้าศาลากลาง” เพื่อ ปิดกั้นการพัฒนา ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดี ที่คนส่วนใหญ่ต้องการ

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

You may have missed