สคอ.-สสส. ดึงภาคีเรียนรู้ “ตลาดเกรียบ”ชุมชนปลอดภัยอันดับ 2 ของประเทศ แหล่งเรียนรู้การทำงานครบทุกมิติ พร้อมชวนสื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดเจ็บตายทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ถึง 2573 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม

สคอ.-สสส. ดึงภาคีเรียนรู้ “ตลาดเกรียบ”ชุมชนปลอดภัยอันดับ 2 ของประเทศ แหล่งเรียนรู้การทำงานครบทุกมิติ พร้อมชวนสื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดเจ็บตายทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ถึง 2573 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม
ที่ โรงแรมเดอะคาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จ.พระนครศรีอยุธยา – ในการประชุมขับเคลื่อนสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จัดโดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักในการขับขี่ปลอดภัยทำให้ปัญหาอุบติเหตุเป็นเรื่องของทุกคน สำหรับผู้ประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เครือข่ายสื่อมวลชนสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และภาคีเครือข่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภาคกลาง
นายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า ตามแนวนโยบายของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่จะนำกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแนวทางการลดอุบัติเหตุทางถนนตาม “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” เพื่อมาขับเคลื่อนดำเนินการ มีเป้าหมายลดอัตราการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากท้องถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ถึง 2573 ถือเป็นความท้าทายที่เราจะต้องร่วมกันทำให้บรรลุเป้าหมาย การที่จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ ต้องให้ความสำคัญ
คือ 1. วิศวกรรมทางถนน หากไม่เหมาะสม จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งถือว่าบกพร่องต้องดำเนินการให้ 2. คน ต้องพร้อมในการขับขี่ 3.รถพร้อม ตรวจเช็คสภาพก่อนขับ 4. การเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั้งนี้สื่อเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ช่วยสอดส่องดูแล กระตุ้นไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ ทุกคนคือพลังที่ช่วยขับเคลื่อนได้
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของไทยยังเป็นอันดับต้นๆของโลก จึงต้องช่วยกันแก้ไขและร่วมเป็นเจ้าของปัญหา โดยเฉพาะบทบาทสื่อมวลชนที่มีพลัง
ในการสื่อสาร เป็นกลไกสำคัญที่จะส่งต่อข้อมูลไปยังผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้หากยังนิ่งเฉยหรือไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม
ไม่เคารพกฎหมาย การบาดเจ็บเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ยังสูงเช่นเดิม ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลอุบติเหตุ Thai RSC ของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ตั้งแต่วันที่1 มกราคม -11 กันยายน 2563 มีผู้เสียชีวิต 10,278 ราย บาดเจ็บ 660,618 ราย โดยในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2563) มีผู้บาดเจ็บ 8,875 ราย เสียชีวิต 177 ราย ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการตายบนท้องถนนเฉลี่ยสูงปีละ24,000 ราย พิการมากกว่าปีละ 50,000 คน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท
นายวิชัย ไวยทิ นายกเทศมนตรีตำบลตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาไม่ได้เน้นเรื่องความปลอดภัยทางถนนอย่างเดียวแต่ทำทุกมิติ ยึดหลัก 6 ด้าน ได้แก่ 1.ความปลอดภัยด้านอาคารสถานที่ 2.การเดินทางปลอดภัย 3.ผลิตภัณฑ์และอาหารปลอดภัย 4.กิจกรรมการเรียนรู้ด้านความปลอดภัย 5.เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 6.การป้องกันภัยจากบุคคลภายนอก สร้างความร่วมมือในชุมชน ภาครัฐร่วมขับเคลื่อน ส่วนการทำงานลดอุบัติเหตุทางถนนจะปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัยในการเดินทางและใช้ยานพาหนะ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย และเกิดความยั่งยืนจนกลายเป็นวัฒนธรรมชุมชน
นางมนัสวี บุญมี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลตลาดเกรียบ กล่าวว่า แนวคิดชุมชนปลอดภัยมาจากชาวตำบลตลาดเกรียบที่นำเสนอผู้บริหารเมื่อปี 2546 ว่าควรทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯสามารถดึงดูดให้เด็กจากตำบลอื่นมาศึกษาต่อ ประจวบเหมาะกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการเด็กไทยปลอดภัยขึ้นและออกค้นหาสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเรื่อง “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดภัย” โดยชุมชนตำบลตลาดเกรียบได้ถูกคัดเลือก ซึ่งเดิมพบว่าชุมชนเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนมากสุด นักเรียนไม่มีความรู้และไม่มีนิสัยรักความปลอดภัย คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไม่ดี จึงได้เริ่มปรับปรุง
โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีในชุมชน เปิดรับฟังความคิดเห็น เช่น การสวมหมวกกันน็อคของเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เมื่อก่อนผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญ เมื่อเริ่มปลูกฝังสร้างความตระหนัก จึงทำให้ผู้ปกครองและเด็กคุ้นชินกับการใส่หมวกกันน็อคมาโรงเรียน และร้องขอให้สวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ขับขี่คึกคะนอง เร็ว แว๊น มีการอบรมให้ความรู้ ประสานโรงเรียนให้เข้มงวด ขณะเดียวกันประสานทางหลวงชนบทขีดสีตีเส้นการจราจร ชะลอความเร็ว ทำลูกระนาด ทางข้ามม้าลาย และติดตั้งป้ายจราจรเตือนการขับขี่ ส่งผลให้ปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างมาก สถิติ 1 ปีที่ผ่านมาไม่พบการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นคดีเลย
จากความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้เทศบาลตำบลตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับการรับรองจากศูนย์รับรองมาตรฐานชุมชนปลอดภัยในระดับสากล (ISCCC) ให้เป็นชุมชนปลอดภัยระดับโลก เมื่อปี 2554 เป็นลำดับที่ 229 ของประชาคมโลก และเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ ที่มีการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีรูปธรรม
///////////////////////////////////////////////////////
