ศอ.บต. หนุน วิทยากรผู้สอนภาษาไทย ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 44 และ43 เพื่อยกระดับการศึกษาจชต. เยาวชนอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้น

ศอ.บต. หนุน วิทยากรผู้สอนภาษาไทย ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 44 และ43 เพื่อยกระดับการศึกษาจชต. เยาวชนอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้น

 

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ประชากรในพื้นที่ร้อยละ 83 ใช้ภาษามลายูสื่อสารในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กในพื้นที่ ใช้ภาษามลายูเป็นหลัก จนปรับตัวไม่ทัน มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านภาษาไทยของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในถิ่นทุรกันดาร ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนา ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษาด้านทักษะการใช้ภาษาไทย

ในพื้นที่ห่างไกลถิ่นทุรกันดาร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เกิดโครงการ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือสนับสนุนวิทยากรผู้สอนภาษาไทย ตั้งแต่ปี 2560 – จนถึงปัจจุบัน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสังกัดกองกับการที่ 43 และ 44 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 จำนวน 36 คน เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาการศึกษา ให้กับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลถิ่นทุรกันดาร ให้สามารถอ่านออก เขียนได้ เขียน ส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่มีประสิทธิภาพ เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนตามแนวคิด Active Learning และมีการประเมินผล การใช้ภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง


โดยสรุปผลการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 อยู่ในระดับดีขึ้น เปรียบเทียบระหว่างภาคเรียนที่ 1 และ 2 คิดเป็นร้อยละ 10.64 และ 9.43 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน นักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพัฒนาการและทักษะในการใช้ภาษาไทยดีขึ้น สามารถสอบเทียมเท่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้ ทั้งนี้เป็นยกระดับมาตรฐานการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องกำกับดูแลการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง


พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทยของเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และวิทยากรผู้สอนภาษาไทย ที่ได้ช่วยกันทำให้วิชาภาษาไทยในพื้นที่ห่างไกลมีความก้าวหน้าและดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ศอ.บต.ก็พร้อมที่จะเข้าไปเติมเต็มและดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทยของเยาวชนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารที่เราจะต้องช่วยกันเดินหน้าขับเคลื่อนในการสร้างต้นแบบของการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเพื่อเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีคุณภาพทางการศึกษาที่ดีขึ้น


นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพวิทยากรผู้สอนภาษาไทย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอน” เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยมีวิทยากรจากสถาบันต่างๆ มาถ่ายทอดให้ความรู้ แนะนำเทคนิคทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนางานการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น ศอ.บต. มีความมุ่งหวังต้องการให้นักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 18 โรง ให้ได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เฉกเช่นเดียวกับเด็กในภูมิภาคอื่น และต้องดำรงอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้อย่างมีความสุขต่อไป

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

You may have missed