เมืองต้นแบบที่ 4 เอกชน ผู้ลงทุนขอให้คนในพื้นที่มั่นใจไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแน่นอน
เมืองต้นแบบที่ 4 เอกชน ผู้ลงทุนขอให้คนในพื้นที่มั่นใจไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแน่นอน
แม้ว่า ขบวนการทำความเข้าใจเรื่อง”เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” หรือที่”เอกชน” ผู้ลงทุนเรียกว่า “สมาร์ทซิตี้” จะเดินหน้าไปตามขบวนการ ของการสร้างการรับรู้ นานกว่า 1 ปี ตามที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ สร้างการรับรู้กับคนในพื้นที่
ซึ่งคนส่วนใหญ่ ใน 3 ตำบล ที่จะเป็น”เมืองต้นแบบที่ 4 “ คือ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน จะได้รับรู้ถึงรายละเอียดของโครงการ ว่าประกอบด้วย อุตสาหกรรมชนิดใดบ้าง และแต่ละอุตสาหกรรม จะมีผลดีผลเสียอย่างไร และที่สำคัญ คนในพื้นที่ได้อะไร จากการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบ” หรือ”สมาร์ทซิตี้” ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบที่ 4 ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ล่าสุดมีการ ยื่นหนังสือจาก ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ใน อ.จะนะ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสิบโรง มีนักศึกษานับพันคน ต่อ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ผ่านนายอำเภอจะนะ เพื่อขอมีส่วนร่วมในการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบ”แห่งนี้
ซึ่ง การออกมาแสดงความต้องการที่จะทราบรายละเอียดของโครงการ เพื่อที่ได้ร่วมกัน”ออกแบบ” เมืองต้นแบบ ที่ให้ทุกฝ่ายได้มี”ส่วนร่วม” ตรงกับความต้องการของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เพราะการที่จะเกิด หรือไม่เกิด เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” อยู่ที่ความ ต้องการ หรือ ไม่ต้องการ ของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ
วันนี้ เรื่องสำคัญที่สุด ทั้งของ ศอ.บต. และของ เอกชน ผู้เข้ามาเพื่อ ขับเคลื่อน เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ”สมาร์ทซิตี้” คือยังต้องทำความเข้าใจ กับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ความคิดความอ่านของคนในพื้นที่ ยังไม่”ตกผลึก” และยังมีคำถามจาก กลุ่มอาชีพต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แม้แต่ตัวแทนกลุ่มการศึกษาในสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชนใน ศอ.บต. ก็ออกมา ขอทราบรายละเอียดของ โครงการ เมืองต้นแบบที่ 4 เช่นกัน
ซึ่ง วันนี้ ผู้เขียนในฐานะที่สวมหมวกอีกใบหนึ่งในหน้าที่ “เลขานุการสภาคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็น ประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน จะได้นำรายละเอียดของ อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น ในเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่เห็นชอบที่จะให้มีเมืองต้นแบบเกิดขึ้น
โดยล่าสุด บมจ.ที่พีไอ โพลีน เพาเวอร์ ซึ่งเป็นหน่างใน เอกชน ที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ”สมาร์ทซิตี้” โดย ดร.ปรกฤษฏ์ เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ที่พีไอ โพลีน เพาเวอร์ ได้กล่าวว่า ครม.เห็นชอบ กับโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 แล้ว และมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่กว่า 2000 คน แล้ว
โดยโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ในส่วนของ บมจง ที่พีไอ โพลีน เพาเวอร์ นั้น จะประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้า 3.700 mw , 1.700 Mw จาก lng นำเข้า 1,000 Mw จากพลังงานลม 800 mw จากพลังงานแสงอาทิตย์ 200 mw จากชีวมวล หรือขยะจากเทศบาล และท่าเรือน้ำลึก lng และเชื้อเพลิงเหลว
จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ท่าเทียบเรือแบบเทกอง และ สวนอุตสาหกรรม 16,735 ไร่ และ “สมาร์ทซิตี้” ในโซนของสวนอุตสาหกรรม จะเป็นอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี อีเล็กทรอนิกส์ โรงไฟฟ้าทางเลือก อุปกรณ์รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์การเดินเรือ และอุปกรณ์ของเครื่องบิน
ที่สำคัญคือจะมีอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร ที่มาจาก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สินค้าเกษตร ปศุสัตว์ ประมง เป็นที่ผลิตสินค้าฮาลาล เทคโนโลยีชีวภาพ เทศโนโลยีอาหารทางการแพทย์ จะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะเกิดขึ้นใน เมืองต้นแบบที่ 4 แห่งนี้ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์ผลิตอุปกรณ์ทางการเมืองแบบครบวงจรในอนาคต เราจะเป็นผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงานสะอาด โดยมีผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ ที่มีหลายรายพร้อมจะมาลงทุน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว
ซึ่ง ผู้บริหารของ บมจ. ที่พีไอ โพลีน เพาเวอร์ ได้กล่าวถึง สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวลว่า จะมีอุตสาหกรรมประเภท ปิโตรเคมี ว่า ได้มีการตกลงในเบื้องต้นกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะ ผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. แล้วว่า เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา จะไม่มีการลงทุนในเรื่องของ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ดังนั้นประชาชนคนในพื้นที่ รวมถึง เอ็นจีโอ จึงสบายใจและมั่นใจได้ว่า อุตสาหกรรม ที่ เมืองต้นแบบที่ 4 จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
และในส่วนของ คนในพื้นที่ สิ่งที่จะได้ประโยชน์ทางตรงคือ การจ้างงานจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ซึ่งในส่วนของแรงงานฝีมือนั้น บริษัทอยู่ระหว่างร่วมมือกับ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อให้สถาบันการศึกษาผลิตนักศึกษาที่ตรงกับตลาดแรงงานใน เมืองต้นแบบที่ 4 ต้องการ เพื่อให้การลงทุนของ เอกชน ในเมืองต้นแบบที่ 4 ส่งผลโดยตรงกับคนในพื้นที่ ส่วนผลทางอ้อม เมื่อ เมืองต้นแบบ ตั้งอยู่ที่ อ.จะนะ เชื่อว่า ความเจริญในด้านอื่นๆ ก็จะตามมา ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์คือคนในพื้นที่ ใน จ.สงขลา และ ใกล้เคียง
ในส่วนของ สิ่งแวดล้อม ที่อาจจะมีผลกระทบนั้น จะมีการป้องกันให้มีผลกระทบน้อยที่สุด และในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบ จะต้องมีการหามาตรการช่วยเหลือเพื่อการบรรเทา ซึ่งในเรื่องนี้ จะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ระหว่างภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ และ เอกชนเจ้าของโครงการ โครงการนี้ บมจ.ที่พีไอ โพลีน บริษัทเดียว ลงทุนถึง 300,000 ล้าน ทุกอย่างต้องมีระบบที่ดีที่สุด เพราะทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ผู้ลงทุน ประเทศ และ ประชาชน จะต้องมีส่วนรู้ ส่วนร่วม ส่วนรับ ด้วยกัน
ทั้งหมดคือรายละเอียดของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใน เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” หรือ”สมาร์ท์ซิตี้” ซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็น และนี่เป็นเพียงบางส่วนของโครงการ ที่ต้องการถ่ายทอดให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ในเบื้องต้น เพื่อที่จะได้ตั้งเป็น”โจทย์” เพื่อไปหาคำตอบในเรื่องต่างๆที่ต้องการ รวมทั้งตั้งเป็นคำถามต่อในประเด็นที่ต้องการรายละเอียดมากกว่านี้
ผู้เขียนได้ทำหน้าที่ ในการนำรายละเอียด ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่า เป็นส่วนสำคัญมาให้ได้รับรู้ ในฐานะของ”สื่อ” ในฐานะของ ตัวแทนหน่วยงาน ซึ่งไม่มีส่วนได้ ส่วนเสีย ใดๆ กับโครงการที่เกิดขึ้น และจะทำหน้าที่”สื่อ” เพื่อ ถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ของเมืองต้นแบบที่ 4 ที่เห็นว่า สำคัญ และ จำเป็น ที่คนในพื้นที่ ต้องรับรู้ เพราะนี้คือโครงการใหญ่ ที่ทุกคน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ต้อง รวมแสดงความคิดเห็น “วิพากษ์ “ เพื่อการ มี ส่วนร่วม ให้มากที่สุด
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา