สงขลา-นิพนธ์ฯ นำมหาดไทย จับมือทุกภาคีเครือข่าย รุกพร้อมกัน สร้างตำบลปลอดภัย ตั้งเป้าลดตายปีละ 2,000 คน ใน 9 จังหวัดนำร่องที่มีสถิติตายสูงสุด

สงขลา-นิพนธ์ฯ นำมหาดไทย จับมือทุกภาคีเครือข่าย รุกพร้อมกัน สร้างตำบลปลอดภัย ตั้งเป้าลดตายปีละ 2,000 คน ใน 9 จังหวัดนำร่องที่มีสถิติตายสูงสุด

 

วันนี้ (31 ส.ค 63) ณ ห้องประชุมอัปสรา 1 โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาความร่วมมือในการขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย ซึ่งจัดโดยสำนักงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด ศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น โดยมีนายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. และ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมในครั้งนี้

นายนิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมภาคีเครือข่ายที่มีความเข้มข้นในการช่วยกันดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ต้องร่วมมือกันบูรณาการอย่างจริงจัง ระหว่างท้องถิ่นกับท้องที่ต้องช่วยกันอุดช่องว่างในการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดการเสียชีวิตบนท้องถนน โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยกว่า 20,000 ราย ทำอย่างไรถึงจะลดจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต และตัวเลขผู้บาดเจ็บบนท้องถนนลงได้ โดยเน้นไปยังภาคีเครือข่าย เร่งบทบาทกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมาเราได้เน้นหนักไปในส่วนของจังหวัด ทั้งบังคับใช้กฎหมายซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นอนุกรรมการในการบังคับใช้กฎหมายของจังหวัด

และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะเน้นในเรื่องของการดูแลพื้นที่ถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่คิดเป็น 80% ของถนนทั้งประเทศ เนื่องจากถนนในประเทศไทย มีความยาวประมาณ 700,000 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงประมาณ 51,000 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ประมาณ 48,000 กิโลเมตรและที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)อีกประมาณ 600,000 กิโลเมตร ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล
ต้องให้ความสำคัญในพื้นที่ ดังนั้นกลไกศปถ.อำเภอต้องเน้นให้ความสำคัญมากขึ้นในการบริหารจัดการในระดับอำเภอซึ่งภายใต้การบริหารระดับอำเภอ คือ

ส่วนของท้องถิ่น และตำบล จากเดิมมีการปิดจุดเสี่ยงที่เน้นไปในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ไม่ได้เน้นจุดเสี่ยงของถนนท้องถิ่นซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น ผมจึงได้เน้นย้ำว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างน้อยเรื่องสัญญาณไฟจราจร สัญญาณไฟต่างๆ ป้ายจราจร ท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญมากขึ้นจะให้เป็นสี่แยกวัดใจเหมือนแต่เดิมไม่ได้ เพราะถนนของกรมทางชนบทที่เมื่อก่อนเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็ก ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชุมชนขนาดกลาง และขนาดใหญ่แล้ว และเมื่อความเป็นเมืองขยายใหญ่มากขึ้นการใช้รถใช้ถนนจึงมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อสภาพถนนดีขึ้นทำให้ขับรถเร็วกันมากขึ้น ตลอดทั้งเมื่อไม่มีสัญญาณไฟจราจรก็ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ท้องถิ่นเองจึงต้องมีการตื่นตัวมากขึ้น เพื่อดูแลรับผิดชอบในเรื่องถนนและการปิดจุดเสี่ยงร่วมกัน

“วันนี้เห็นได้ว่าในส่วนของตำบลศปถ.อปท. และ ศปถ.อำเภอ จำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเพื่อลดการสูญเสียชีวิตบนท้องถนน โดยที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายมากขึ้นได้มีการจัดประชุมในระดับภาค โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นประธานศูนย์ความปลอดภัยจังหวัด มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดกลไกการดำเนินการ นำไปสู่เป้าหมายเพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตให้เป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(WHO) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตปัจจุบัน 30 คนต่อ 1 แสนประชากร ตั้งเป้าให้เหลือ 16 คนต่อ 1 แสนประชากรโดยใช้ระยะเวลาภายใน 5 ปี ทั้งนี้การลดความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงกว่า 2,000 ราย

ซึ่งถ้าลดลงทุกปีก็จะบรรลุเป้าที่เราได้ตั้งไว้ ซึ่งจะพุ่งเป้าไปยัง 9 จังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดก่อน ได้แก่ เชียงราย กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี ยโสธร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ระยอง จันทบุรี พร้อมทั้งกำชับทุกส่วนต้องมีการขับเคลื่อนศปถ.อปท. ทั้งการประชุมติดตามผลการดำเนิน และประเมินผลเป็นประจำทุกเดือนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รายงานผลการดำเนินการทุกๆ 3 เดือน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับท้องถิ่น ประสานความร่วมมือกับประชาชน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติหตุในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน “ นายนิพนธ์กล่าว

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา