(รายงานพิเศษ )ผู้เห็นด้วยกับ “เมืองต้นแบบ” อ.จะนะ ยังต้องการความมั่นใจจากรัฐ ศอ.บต. และ เจ้าของโครงการ ต้องเร่งสร้างความ เชื่อมั่น ให้เกิดขึ้น
(รายงานพิเศษ )ผู้เห็นด้วยกับ “เมืองต้นแบบ” อ.จะนะ ยังต้องการความมั่นใจจากรัฐ ศอ.บต. และ เจ้าของโครงการ ต้องเร่งสร้างความ เชื่อมั่น ให้เกิดขึ้น
การรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ 3 ตำบล ใน อ.จะนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในพื้นที่เกือบ 20,000 ไร่ ใน ต.นาทับ ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งจัดโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) โดยมีตัวแทนจาก กลุ่มทุน ที่เป็นเจ้าของโครงการ นั้นคือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน และ ไออาร์ซีพี หรือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้รายละเอียดของโครงการ แก่ผู้เข้าร่วมเวที รับฟังความคิดเห็นกว่า 1,500 คน ณ ห้องประชุม ร.ร.จะนะวิทยา อ.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
แม้ว่า การรับฟังความคิดเห็นจะผ่านไปด้วยดี โดยที่ผู้เข้าแสดงความคิดเห็น มีตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งมี นักกฎหมาย ที่ได้เสนอความเห็น ซึ่งแม้จะเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่มีก็ความห่วงใย และ ท้วงติง รวมทั้ง เรียกร้อง จากผู้ที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบ จากการก่อสร้าง ที่จะเกิดขึ้น เพื่อขอความมั่นใจ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ในคำมั่นสัญญาว่าจะต้องเป็นไปตามที่มีการนำเสนอทั้งก่อนหน้านี้ และในวันนี้
ในประเด็นความ เชื่อมั่น เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมากว่า 20 ปี คนจะนะ มีความรู้สึกว่า พวกเขาถูกหลอกมาแล้ว 2 ครั้ง ๆแรกคือการเข้ามาของโรงงานแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบันคือ บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย
และครั้งที่ 2 คือการเกิดขึ้นของ โรงไฟฟ้าจะนะ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และโรงที่ 2 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง มีการตกปากรับคำจากเจ้าของโครงการ ถึงสิ่งที่ชาวจะนะ จะได้รับ ต่างๆนาๆ โดยเฉพาะการ มีงานทำ ของคนในพื้นที่ แต่สุดท้าย ไม่ได้เป็นไปตามคำมั่นสัญญา เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ชาวจะนะไม่มั่นใจว่า การจะเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” พวกเขาจะถูกหลอกให้ “กินยาลม ดมยาหอม” หรือไม่
ซึ่งการสร้างความมั่นใจและความเชื่อใจ ระหว่างคนในพื้นที่กับเจ้าของโครงการ จึงยังเป็นงานหนัก ที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) จะต้องดำเนินการต่อไปและต้อง เข้มข้น หนักแน่น ยิ่งกว่าเดิม เพราะ โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถ้าเป็น”มวย” ไม่ใช่ มวย 5 ยก อย่าง มวยไทย แต่เป็น”มวยสากล” ที่ต้องต่อยกันถึง 15 ยก และเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่าน เป็นเพียงยกแรกเท่านั้น
สำหรับคู่ต่อสู้ของโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” คือกลุ่มผู้”เห็นต่าง” หรือผู้”คัดค้าน” โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” มีด้วยกันดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มคัดค้านที่มีอาชีพ ประมงพื้นบ้านภายใต้”ร่มเงา” ของ เอ็นจีโอ ซึ่งไม่ใช่ของใหม่สำหรับคนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพราะเป็น ผลผลิต ที่ เอ็นจีโอ เมื่อ 20 ปีก่อน ที่ ปลูกฝัง ให้ ประมงพื้นที่บ้าน ต่อต้านการเกิดขึ้นของโรงงานแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ที่ ต.ตลิ่งชัน ด้วย”ม๊อดโต้”ที่ติดปากคนในพื้นที่คือ”มึงสร้างกูเผา” ต่อด้วยการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ. ) ซึ่งถ้านับจำนวนเฉพาะคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพประมงพื้นที่บางส่วน น่าจะไม่เกิน 200 คน แต่เป็น 200 คน ที่ถูก “ปลูกฝัง” ให้ต่อต้านทุกโครงการ แบบ”กัดไม่ปล่อย” เพราะ เชื่อว่า อุตสาหกรรมทุกประเภท คือตัวการทำลายล้างท้องทะเลให้สัตว์น้ำสูญหาย สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย อาชีพประมง “ล่มจม”
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่สนับสนุนทุกโครงการที่เข้ามาในพื้นที่ เพราะ 1 เชื่อผู้นำ 2 เชื่อว่าการเกิดขึ้นของ อุตสาหกรรม จะนำมาซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับ
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มต่อต้าน ที่ต้องการผลประโยชน์ จากโครงการ ซึ่งเป็น นักการเมืองท้องถิ่น และระดับชาติ กลุ่มนี้จะต่อต้านแบบมีข้อเรียกร้อง เช่นพร้อมที่จะสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขว่า โครงการจะต้องให้ในสิ่งที่ต้องการ หรือให้กลุ่มของตนเอง มีส่วนร่วมในประโยชน์ที่ได้รับ
กลุ่มที่ 4 คือกลุ่ม นักวิชาการ เครือข่าย ในชื่อต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านโครงการใหญ่ของรัฐและของกลุ่มทุน โดยเชื่อว่า อุตสาหกรรม คือตัวทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการ”กัดเซาะ” ชายฝั่ง มลภาวะ และเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของคนในพื้นที่
กลุ่มที่ 5 คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น ที่อาศัย”ปีกทางการเมือง” ในรูปแบบภาคประชาสังคม กว่า 30 กลุ่ม ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลา ) ซึ่งจะ แนบแน่นกับ เครือข่ายของ กลุ่ม หรือองค์กร สิทธิมนุษย์ชน และ เอ็นจีโอ ระดับชาติ และระดับสากล เพื่อ ขยายความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับประชาชนให้เกิด “เงื่อนไข”ให้มากที่สุด
แต่…กลุ่มต่อต้าน หรือ”เห็นต่าง” ที่สังคมเห็นชัดเจนที่สุดคือ กลุ่มประมงพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 200 คน ที่อยู่ภายใต้ ”ปีกโอบ” ของเอ็นจีโอ เพราะ เอ็นจีโอ เป็นผู้วางแผนในการใช้”วาทกรรม” และใช้ ช่องทางการสื่อสาร ในการทำ”ไอโอ” ที่เหนือกว่าหน่วยงานของรัฐหลายเท่า
เช่นการสร้าง”เฒ่าทะเล” เพื่อ เล่าตำนานความรุ่งเรืองของทะเลจะนะ สร้าง “ลูกสาวท้องทะเล” เพื่อเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ของอาชีพประมงพื้นที่บ้าน และ”เดินสาย” คัดค้านในรูปแบบที่”อินเตอร์” คือ เขียนจดหมายถึง”ปู่ประยุทธ์” นอนหน้า”ศาลากลาง” เพื่อ รอคำตอบ และ ยื่นจดหมายน้อยกับ”ยูเอ็น” เพื่อ คัดค้านโครงการดังกล่าว ซึ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการ”แย่งซีน” จาก”สื่อ” ที่ได้ผล เพราะ”สื่อ” จะให้ความสนใจ ข่าว แบบที่ เอ็นจีโอ นำเสนอ
ความจริง”วาทกรรม” ที่ เอ็นจีโอ”บอกบท” ให้กับกลุ่มผู้เห็นต่าง” ล้วนเป็นเรื่องเก่าๆ เช่น ขบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่รอบด้าน เวทีไม่เปิดกว้าง ไม่ให้กลุ่มผู้”เห็นต่าง” เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อนุมัติโครงการโดยไม่ถามคนในพื้นที่ ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมาก สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น ฯลฯ ฉะนั้นจึงเรียกร้องให้ ยุติโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ ไม่ก็ เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
ซึ่งโดยข้อเท็จจริง โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากโครงการ”eec” ใน 4 จังหวัดของภาคตะวันออก หรือ “ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก” ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว เพียงแต่ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่มี”เงื่อนไข” เพียงพอให้”เอ็นจีโอ”ต่อต้านโครงการดังกล่าวเท่านั้น
ส่วนเหตุผลของ ศอ.บต. ที่รับหน้าที่จาก รัฐบาล ในการอำนวยความสะดวกให้กับ กลุ่มทุน เพื่อให้เกิด”เมืองต้นแบบที่ 4” เพราะเห็นชัดเจนว่า สภาพความเป็นอยู่ของคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่อาจจะฝากไว้กับเรื่อง การเกษตร การประมง การท่องเที่ยว เพียงเท่านี้ เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นช่องทางที่จะทำให้ปัญหาของคนในพื้นที่ได้รับการแก้ไข การที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องอาศัยการเกิดขึ้นของ อุตสาหกรรม ระดับ อภิมาหาโปรเจก อย่าง”เมืองต้นแบบที่ 4”เท่านั้น
ที่จะรองรับ จำนวนคนว่างงานกว่า 100,000 คน ผู้ที่จบการศึกษาปีละ 75,000 คน เพื่อให้มีที่ยืน และเชื่อว่า “เมืองต้นแบบที่ 4” จะเป็นประตูการ”ส่งออก” ประตูที่ 3” ของประเทศไทย ที่จะสร้างความ “มั่งคั่ง” ให้กับประเทศชาติ”และสร้างความ”มั่นคง” ให้กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนจะสำเร็จ หรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับ คนใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะ และของรัฐบาล ที่ต้องกล้าในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการนำพาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจาก วังวนของ”ไฟใต้”ได้นั้น ขึ้นอยู่กับแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนเท่านั้น
ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ รายงาน