นิพนธ์ คิ๊กออฟกิจกรรม “ฟางอัดก้อน ลดการเผา Zero Burn” หวังสร้างความร่วมมือเพื่อลดมลพิษทางอากาศ

นิพนธ์ คิ๊กออฟกิจกรรม “ฟางอัดก้อน ลดการเผา Zero Burn” หวังสร้างความร่วมมือเพื่อลดมลพิษทางอากาศ

 


ที่องค์การบริหารส่วนตำบลรางจเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กับ องค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ ตามโครงการ “ฟางอัดก้อน ลดการเผา Zero Burn” พร้อมส่งมอบเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีนายภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพงศกร มงคลหมู่ นายก อบต.รางจรเข้ ผู้แทนบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


นายนิพนธ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันปัญหา PM 2.5 และภาระโลกร้อนจากการเผาเศษผลผลิตทางเกษตรทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากการเผาตอซังในนาข้าวซึ่งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อลดปัญหาการเผาจากภาคการเกษตร จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล จึงผลักดันให้จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่พร้อมเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนการเกษตรปลอดการเผา

ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) นำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาแก้ปัญหาหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว สนับสนุนเครื่องจักรอัดก้อนฟาง และพื้นที่สำหรับเก็บก้อนฟางเพื่อรวบรวมส่งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในเครือเอสซีจี อัดเป็นก้อนหรืออัดเม็ด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะในวงกว้าง สร้างระบบการบริหารจัดการฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว รวมถึงผลักดันแผนการจัดการฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการ ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”


“ นอกจากแก้ปัญหามลพิษแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นทางหนึ่งด้วยเป็นการสร้างรายได้เสริมหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว และเพื่อใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จากเดิมที่เผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ให้เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกษตกรมีส่วนร่วมให้การบรรเทาปัญหา จึงถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและส่วนร่วมที่ควรส่งเสริมและสนับสนุนเป็นต้นแบบให้กับ อปท. ในการแก้ปัญหามลพิษ ฝุ่นควัน PM2.5 ให้กับประเทศต่อไป “ นายนิพนธ์กล่าว

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

You may have missed