รายงานพิเศษ โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่จะต้องมีคำถามคำตอบอีกหลายประเด็น

รายงานพิเศษ โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่จะต้องมีคำถามคำตอบอีกหลายประเด็น

 

 

ยังมีคำถาม และ คำตอบ ที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมอีกมาก สำหรับเรื่องของ “เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็น “เมกะโปรเจก”ที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นทางออกในการสร้างเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการ ผลักดัน โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวทุกกระทรวงให้ความร่วมมือ
ซึ่งขณะนี้ การผลักดัน เมืองต้นแบบที่ 4 แห่งนี้ อยู่ในช่วงของการ ดำเนินการเปลี่ยนผังเมือง จากผังเมืองเดิมให้เป็น ผังเมือง ที่เป็นเขตอุตสาหกรรม
ล่าสุดมีคำถามจาก นักวิชาการ ของสถาบัน” ทีดีอาร์ไอ” ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของ “เมืองต้นแบบที่ 4” ในประเด็นต่างๆ 4 ข้อด้วยกัน
เช่นข้อที่ 1. เหตุใดคณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบ ในหลักการการลงทุนเร่งด่วนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ แห่งนี้ ประเด็นที่ 2. โครงการนี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน 100,000 คน จริงหรือไม่ ประเด็นที่ 3. นิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีความจำเป็นจริงหรือไม่ และประเด็นที่ 4 .โครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและ เศรษฐกิจประชาชนอย่างไร


ในประเด็นที่ 1 นั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ให้ข้อมูลว่า โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน “ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นการคิดร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ เอกชน ทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ มีการประชุมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ( กรอ.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2559 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ในระยะแรก เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน กำหนด เมืองต้นแบบ ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี , อ.เบตง จ.ยะลา และ ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ต่อมามีการให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบคู่ขนาน การพัฒนาที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับทั้ง 3 เมือง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในระดับอนุภูมิภาคใต้ตอนล่าง


ต่อมา ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบแห่งนี้ กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่มี รัฐมนตรี สำนักนายก เป็นประธานอนุกรรมการ มี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ศอ.บต.” เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อรายงานผลการดำเนินการให้ ครม.ทราบ พร้อมรายงานปัญหา อุปสรรค แนวทางการแก้ไข เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้ โดย ศอ.บต. เริ่มต้นในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจังในเดือน มี.ค.2562 เป็นต้นมา
การสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในโครงการดังกล่าว มีการพัฒนาการที่ต่อเนื่อง มีข้อมูลที่มาจากธนาคารแห่งประเทศไทยภาคใต้ ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจของภาคใต้เป็นอย่างไร จุดเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาด้านอื่นๆ รวมถึง มิติการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ สังคม การศึกษา และ ทรัพยากรมนุษย์ และยังมีการศึกษาในเรื่องอื่นๆ บนเงื่อนไขทับซ้อนระหว่างภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง


โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2562 เป็นต้นมา บนพื้นที่ฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน ในหลากหลายช่องทางของการสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็น และสุดท้ายคือการเปิดเวที เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะรวบรวม ความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบลส่งให้กับ ครม.เพื่อประกอบการพิจารณา และยังได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก ภาคส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ 3 ตำบล ที่เป็นที่ตั้งของโครงการ เช่นการรับฟังความคิดเห็นจาก กลุ่มของ นักธุรกิจ ในจังหวัดสงขลา การประชุมร่วมกับสถาบันการศึกษา การประชุมรวมกับหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อการทำแผนร่วมกันทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข


ดังนั้น กรณีการจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาการขยายผลเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” จึงเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการเดิม มิใช่เป็นการอนุมัติเป็นหลักการแบบลอยเข้ามา คณะรัฐมนตรีตามที่ภาคประชาสังคมได้นำเสนอข้อมูลต่อสื่อมวลชน ในขณะเดียวกัน หากเปิดมติ ครม.ข้างต้น ก็จะพบว่า ครม.ได้เห็นชอบเป็นเพียงหลักการเท่านั้น ส่วนการดำเนินการตามมิติจำเป็นต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยการนำความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบด้วย
หากเปิดมติ ครม. จะพบว่า ครม.ได้เห็นชอบเพียงหลักการเท่านั้น ส่วนการดำเนินการตามมติ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ครม.ที่เกี่ยวข้อง กรณีการศึกษาต้นทุน ผลประโยชน์ ต้องทำหลังจากที่ ครม. เห็นชอบในหลักการแล้ว ดังนั้นขณะนี้ทุกโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม เรื่อง สุขภาพ ตามกรอบเวลาที่กำหนด โดย ศอ.บต.มีหน้าที่รายงานผล ความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค ต่อ กพต. และ ครม. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
นี่คือประเด็นของคำถามข้อแรกที่ ที่พยายามมีการตั้งข้อสงสัยว่า “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา มีความเป็นมาอย่างไร มีความไม่ชอบมาพากล หรือไม่ หรือเป็นการ เอื้อประโยชน์ให้กับ กลุ่มทุนกลุ่มไหนอย่างไร ส่วนคำตอบในประเด็นที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 4 จะได้นำมานำเสนอเพื่อไขข้อเท็จจริง และข้อข้องใจกันต่อไป

นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

You may have missed