สำนักงานเกษตร กระบี่ เตือนชาวสวนยางพารา เฝ้าระวังโรคใบร่วงของยางพาราจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ระบาด ในช่วงหน้าฝน (ชมคลิป)

กระบี่-สำนักงานเกษตร กระบี่ เตือนชาวสวนยางพารา เฝ้าระวังโรคใบร่วงของยางพาราจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ระบาด ในช่วงหน้าฝน

 

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=Wuj_6CBoAjk[/embedyt]

 

วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ พบ สภาพสวนยาพาราของเกษตรกร บ้านคลองหิน ตำบลคลองหิน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ใบยางพาราร่วงหล่น จนหมดทั้งสวน สร้างความเดือดร้อน อย่างหนัก ทำให้ผลผลิตลดลง ร้อยละ 30 บางแปลงไม่สามารถกรีดยางพาราได้ แม้ว่าราคา น้ำยางสด ขณะนี้ ปรับสูงขึ้น อยู่ที่กิโลกรัมละ กว่า 64 บาท ซึ่งเป็นคาราที่สูงสุด ในรอบหลายปีที่ผ่านมา


นายอนุชา ยาอีด เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกชุกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดความชื้นสูง ปริมาณแสงแดดน้อยทำให้เกิดปัญหากับต้นยางพาราใบร่วงเป็นจำนวนมาก ขณะนี้เป็นโรคใบร่วงยางพาราที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ซึ่งเป็นโรคที่พบประจำในสภาพอากาศชื้นและฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และมักพบในยางพาราพันธุ์ RRIM 600 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานต่อโรคใบร่วงและเป็นพันธุ์เกษตรกรในจังหวัดกระบี่นิยมปลูก ซึ่งปัจจุบันนี้ จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ ปลูกยางพารา ประมาณ 7.1 แสนไร่ รวมทั้ง 8 อำเภอ มีการแพร่ระบาด ของโรค ทั่วทั้งจังหวัดกระบี่ อยู่ระหว่างตรวจสอบ จำนวนไร่


โดยลักษณะอาการของโรคนี้คือ ให้สังเกตก้านใบ จะปรากฏรอยแผลซ้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำตามความยาวของก้านใบแผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อมีหยดน้ำยางเล็กๆ เกาะติดอยู่เมื่อนำใบยางเป็นโรคมาสะบัดไปมาเบาๆ ใบย่อยจะหลุดทันทีซึ่งต่างจากใบยางที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ เมื่อนำมาสะบัดไปมาใบย่อยจะไม่ร่วงบางครั้งแผ่นใบอาจเป็นแผลสีน้ำตาลเข้มถึงดำมีลักษณะช้ำน้ำขนาดของแผลไม่แน่นอน นอกจากนี้เชื้อสามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะทำให้ฝักเน่า

ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาว เจริญปกคลุมฝักฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมา และหากไม่มีการป้องกันเชื้อจะลุกลามลงหน้ายางกลายเป็นโรคเส้นดำได้ ส่วนการแพร่ระบาดของโรคนี้แพร่ระบาดโดยลมและฝน ความรุนแรงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและจำนวนวันฝนตก เชื้อนี้ต้องการน้ำเพื่อการขยายพันธุ์จึงระบาดได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน โดยที่มีแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ แนะนำวิธีการป้องกันกำจัดดังนี้

1.กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางพาราให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง

2. หากระบาดกับต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เมทาแลกซิล(metalaxyl) หรือ ฟอสเอทธิลอลูมินั่ม(fosetyl-Al) อัตราส่วนตามฉลากแนะนำ พ่นพุ่มใบเมื่อเริ่มพบการระบาด ทุก 7 วัน
3. สำหรับยางที่เปิดกรีดแล้ว ใช้ฟอสเอททิลอลูมิเนียม (อาลิเอท) หรือเมตตาแลคซิล อย่างใดอย่างหนึ่ง ทาที่หน้ากรีดทุก 7 วัน 3 – 4 ครั้งในช่วงที่มีการระบาด


4. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กก.ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 50 กก.และรำ 4-10 กก.ผสมให้เข้ากันใช้อัตราส่วน
3-6 กก./ต้น รอบโคนต้นกว้าง 15-20 ซม.หว่านปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นฝนและปลายฝน เพื่อป้องกันโรค
5. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมดินฝุ่นแดง 1 กิโลกรัม และน้ำ 1-2 ลิตร ผสมให้เข้ากันนำไปไปทาหน้ายางป้องกันโรคที่เกิดกับหน้ายางพารา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด กระบี่ 075-611649

 

ข้อมูลข่าว / ภาพ
มโนธรรม ใจหาญ จ.กระบี่ รายงาน

You may have missed