“ดาวอังคาร” อวดโฉมคืนใกล้โลก 6 ตุลาคม 2563 ประชาชนแห่ชมดาวเคราะห์แดงคึกคัก (ชมคลิป)

เชียงใหม่-“ดาวอังคาร” อวดโฉมคืนใกล้โลก 6 ตุลาคม 2563 ประชาชนแห่ชมดาวเคราะห์แดงคึกคัก

 

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=vSSal6LybD8[/embedyt]

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งกล้องส่อง “ดาวอังคารใกล้โลก” ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ชมดาวเคราะห์แดงเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ประชาชนแห่ชมคึกคัก เตรียมจัดอีกครั้ง 14 ตุลาคม 2563 คืนดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า กิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลก ในค่ำคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2563 บริเวณอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ท้องฟ้าค่อนข้างเป็นใจ สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ หลังจากนั้น ดาวอังคารโผล่พ้นขอบฟ้าอวดโฉมมาให้ชมกันตั้งแต่ประมาณ 20:00 น. มีประชาชนผู้สนใจพากันต่อแถวชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์กันอย่างคึกคัก นอกจากนี้ สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ อาทิ ดวงจันทร์ กาแล็กซีแอนโดรเมดา อีกด้วย

สำหรับจุดสังเกตการณ์หลักที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และสงขลา มีฝนตกในช่วงหัวค่ำ หลังจากนั้นฟ้าเริ่มเปิดสามารถสังเกตเห็นดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ได้อย่างชัดเจน

หลังจากวันนี้ ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารสุกสว่างได้ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก จนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป สดร. กำหนดจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารอีกครั้ง ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และสงขลา

จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจมาร่วมสังเกตการณ์ดาวอังคารกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะค่อยๆ ถอยห่างออกจากโลกไป และจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2565 นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่