‘บิ๊กป้อม’ลงระยอง สั่งการ 5 เสือแรงงาน บูรณาการขับเคลื่อนแรงงานภาคตะวันออกทุกมิติ
รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดระยองมอบนโยบายหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน 5 จังหวัดภาคตะวันออก เร่งขับเคลื่อนยกระดับฝีมือแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้น ส่งเสริมการมีงานทำ เร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในกลุ่มต่างด้าว และดูแลใส่ใจความปลอดภัยของแรงงานให้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานให้แก่หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต้อนรับ และ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค
2 จังหวัดระยอง โดยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่และประเทศ ซึ่งแรงงานเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19
ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานต่างด้าว สำหรับจังหวัดระยองที่เป็นพื้นที่ในเขต EEC ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีลักษณะ Multi skill ขอให้ทุกส่วนราชการร่วมกันส่งเสริมการมีงานทำที่เหมาะสมกับศักยภาพของแรงงาน
พล.อ.ประวิตร ยังได้มอบนโยบายโดยเน้นย้ำถึงการทำงานเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
1) ให้บูรณาการการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะปัญหาแรงงานประมง เพื่อยกระดับสู่ Tier1
2) ยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน Up-skill และ Re-skill เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ให้สามารถจับคู่กับงาน (Matching) ที่เหมาะสมกับศักยภาพของแรงงานและรองรับกับเทคโนโลยีชั้นสูงในสถานประกอบการได้
3) ให้บูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในภูมิภาค ในการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
4) เร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบให้รวดเร็ว ครบถ้วน
5) เฝ้าระวังและการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และเตรียมความพร้อมตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 จำนวน 741,636 คน
6) ให้ตระหนักและใส่ใจถึงความปลอดภัย และดูแลแรงงานให้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย หากแรงงานได้รับบาดเจ็บหรือทุพพลภาพ ให้เร่งดูแลความช่วยเหลือและฟื้นฟูเพื่อให้มีกำลังใจต่อสู้และกลับมาทำงานได้อย่างเต็มภาคภูมิ