( รายงานพิเศษ )สถาบันการศึกษาสงขลากับ”เมืองต้นแบบที่ 4”จะนะ อยู่ที่ ผู้บริหารจะแปร”วิกฤติ”เป็น”โอกาส” ได้อย่างไร
( รายงานพิเศษ )สถาบันการศึกษาสงขลากับ”เมืองต้นแบบที่ 4”จะนะ อยู่ที่ ผู้บริหารจะแปร”วิกฤติ”เป็น”โอกาส” ได้อย่างไร
ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กพต.” ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามความก้าวหน้า ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหนึ่งในโครงของยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ”เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ”เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดย พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบ ในการให้ เอกชน เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยมอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เป็นผู้ อำนวยความสะดวก และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอาชีพของคนในพื้นที่”เมืองต้นแบบที่ 4” คือ ต.นาทับ,สะกอม และ ตลิ่งชั่น ให้มีความมั่นคง มั่นใจ ก่อนการมาถึงของ เมืองต้นแบบที่ 4 แห่งนี้
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีความห่วงใยในด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในพื้นที่ โดยให้ ศอ.บต. สร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ทุกหน่วยงานในพื้นที่ สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” เพื่อเป็นการ ช่วยเหลือ ศอ.บต. อีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ ต่อโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ว่า เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน มั่นคง และประเทศชาติ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน
ดังนั้น เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อำเภอจะนะ จึงอยู่ในช่วงของการ ผลักดันให้เดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ ไม่ได้ถูกสั่งให้”หยุด” หรือการ “ชะลอ” โครงการอย่างที่ เอ็นจีโอ กลุ่มผู้ต่อต้านโครงการทุกโครงการของภาคใต้ได้ออกมาสร้างความสับสนให้เกิดขึ้น
โดยข้อเท็จจริง นโยบายของการขับเคลื่อน”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ขับเคลื่อนของ โดยรัฐบาล ถือเป็น”วิกฤติในโอกาส”ของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถานการณ์ของประเทศไทย ณ วันนี้ ถ้าเอกชนไม่เป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เชื่อว่าโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะไม่เกิดขึ้นในภาคใต้อย่างแน่นอน และเชื่อว่ารัฐบาลเอง ก็ไม่มีปัญญาที่จะลงทุนด้วย
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่ยังมีเรื่องของ ความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังปฏิบัติการทาง”การทหาร” และ”การเมือง” ดังนั้นการที่ เอกชน จำนวน 2 บริษัท เข้ามาลงทุนเพื่อทำ “อุตสาหกรรม” ที่ไม่มี”ปิโตรเคมี” ในขนาดของพื้นที่ 17,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือการ “แปรวิกฤติให้เป็นโอกาส” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นเอง
วิกฤติของการก่อการร้าย วิกฤติของคนว่างงาน วิกฤติของ นักศึกษาที่จบใหม่ และที่จบมาแล้วยังตกงาน จะได้รับการแก้ไข จากการเกิดขึ้นของ”เมืองอุตสาหกรรมในอนาคต” และจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบอาชีพเดิมที่มีอยู่แล้ว และเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ เขตอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไทย
สิ่งหนึ่งที่เป็นของใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งต้องชื่นชมความคิดอ่านของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นั้นคือ การที่ ศอ.บต.มีโครงการ ประชุมร่วมกับสถานศึกษาระดับอาชีวะ ในพื้นที่ 5 อำเภอ โดยให้ เอกชนผู้ลงทุน ได้ร่วมกำหนดแผนในการผลิตนักศึกษาเพื่อให้ตอบโจทย์ของ”ตลาดแรงงาน” ที่ เอกชนผู้ลงทุนต้องการ ซึ่งเรื่องนี้ คือการ”ร่วมกันออกแบบ” ของการพัฒนา ระหว่างสถานศึกษา หน่วยงานของรัฐ และ เอกชนผู้ลงทุน เพื่อที่จะให้การผลิต นักศึกษาที่จบใหม่ตรงกับ ตลาดแรงงานของเอกชนผู้เข้ามาลงทุนในพื้นที่
โดยข้อเท็จจริง นอกจาสถานศึกษาระดับ”อาชีวะ” ในพื้นที่แล้ว ใน จ.สงขลา ยังมีสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,มหาวิทยาลัยราชภัฏ,มหาวิทยาลัยราชมงคล,มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นของรัฐ และ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ที่เป็นของเอกชน
ซึ่ง วันนี้ มหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ควรจะมีการปรับตัวในการผลิตนักศึกษาคณะต่างๆ เพื่อให้ตรงกับตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะให้สอดรับการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะเร็วหรือช้า เพราะยังมีขั้นตอนต่างๆอีกหลายขั้นตอน ทั้งเรื่องการเปลี่ยนผังเมือง เรื่องการทำสิ่งแวดล้อม และอื่นๆอีก ฯลฯ
มหาวิทยาลัยในพื้นที่จึงไม่ควรเสียโอกาสในการที่จะผลิตนักศึกษาให้ตรงกับสาขาอาชีพที่เอกชนผู้ลงทุนต้องการ แม้จะไม่ได้ทุกสาขา แต่ก็มีหลายคณะหลายสาขา ที่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของ เมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่าง”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ รวมทั้งการเกิดขึ้นของ”เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอำเภอสะเดา” ซึ่งสุดท้ายแล้ว เมื่อ”เมืองต้นแบบที่ 4 “เกิดขึ้น เขตอุตสาหกรรมพิเศษชายแดนอำเภอสะเดาเกิดขึ้น ยังจะมี อุตสาหกรรมอื่นๆติดตามมา นั่นหมายถึงโอกาสของ นักศึกษาใน มหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่งของจังหวัดสงขลา ที่จะได้รับประโยชน์มากกว่า นักศึกษาในภูมิภาคอื่นๆ
เป้าหมายของ นักศึกษาคือการเรียบจบแล้วมีงานทำ เป้าหมายของผู้ปกครองคือการเห็นลูกได้ทำงานในบ้านเกิด ซึ่งในยุคที่ เศรษฐกิจของประเทศ”หัวทิ่ม” ทั้งการอาการ”สะสม” จากเศรษฐกิจโลก ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และการเกิดขึ้นของ”โควิด 19” คือสิ่งบอกเหตุว่า เราจะต้องต่อสู้เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเร็ว 5 ปี อย่างช้า 10 ปีข้างหน้า
ดังนั้นเมืองต้นแบบที่ 4 ที่เป็นการลงทุนของเอกชนในวงเงิน 6 แสนล้าน และเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรม”สีเขียว” ที่ไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงเป็น”โอกาส” ใน”วิกฤติ” อย่างแท้จริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และของผู้คนในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่
จึงอยู่ที่ว่า ผู้บริหารสถานศึกษาที่กล่าวถึง คิดอย่างไร มองอย่างไร กับการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” พร้อมหรือยังที่จะแสดงความคิดเห็น”เพื่อร่วมกันออกแบบ” เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” รวมกับภาครัฐและเอกชนเจ้าของโครงการ
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา