กลุ่มผู้เลี้ยงนกเขาและประมงพื้นจะนะเห็นด้วยกับโครงการเมืองต้นแบบ แต่ขอให้ ศอ.บต.และ กลุ่มทุนสร้างความเชื่อมันให้มากกว่าที่เป็นอยู่
กลุ่มผู้เลี้ยงนกเขาและประมงพื้นจะนะเห็นด้วยกับโครงการเมืองต้นแบบ แต่ขอให้ ศอ.บต.และ กลุ่มทุนสร้างความเชื่อมันให้มากกว่าที่เป็นอยู่
นายจูแม เส็นแอ หนึ่งในชาวบ้าน ที่ทำฟาร์มนกเขาชวาเสียงในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ให้ทัศนะต่อการผลักดันให้เกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”ของรัฐบาล ที่มอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เป็นผู้ขับเคลื่อน ทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่ก่อนที่เมืองต้นแบบจะเกิดขึ้น และอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ลงทุนว่า ผู้เลี้ยงนกเขาชวาส่วนใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ในทุกตำบล และรายได้ของนกเขาชวา ก็ทำรายได้ให้กับคนเลี้ยงนกในอำเภอจะนะหลายร้อยล้านบาทต่อปี ไม่ได้ขัดข้องหรือต่อต้านการที่จะมีเมืองต้นแบบ ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมเกิดขึ้น แต่ขอให้ ศอ.บต. และ หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ให้รายละเอียดของโครงการให้มากกว่าเดิม และให้สร้างความเชื่อมั่นต่อคนในพื้นที่ว่า อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น จะไม่ทำให้อาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาได้รับผลกระทบ และสมมุติว่าเกิดผลกระทบจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่ผ่านมา มีการทำความเข้าใจก็จริง แต่ยังไม่มากพอในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น
ในขณะที่นายลีฝีน ขวัญโต๊ะ ซึ่งมีอาชีพ ประมงพื้นที่บ้าน ก็เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่กล่าวว่า ชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ ไม่มีใครต่อต้านการเกิดขึ้นของ เมืองต้นแบบที่ 4 แต่ยังต้องการข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ จาก ศอ.บต. และจาก ผู้ที่มาลงทุน เพราะประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหนึ่ง ที่คนที่นี้ยึดเป็นอาชีพและมีรายได้เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว จึงต้องขอความมั่นใจว่า อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มากับเมืองต้นแบบ จะต้องไม่ทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบ และหากมีผลกระทบจะดำเนินการอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องมีรายละเอียดที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจว่าอาชีพเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วของคนในพื้นที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม
ซึ่งต่อกรณีนี้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) กล่าวว่า ศอ.บต. ยังดำเนินการในการสร้างความเข้าใจในโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4”ในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่เป็นอันดับแรก และยังจะมีกิจกรรมพบปะรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งมีการประสานกับผู้ลงทุนเพื่อเช่นการลงนามกับสถาบันการศึกษาเพื่อที่จะให้ผลิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการดำเนินการพัฒนาทุกอาชีพในพื้นที่ 3 ตำบลให้มีความก้าวหน้าก่อนที่จะมีการเกิดขึ้นของเมืองต้นแบบที่ 4 แม้กระทั่งการผลักดันให้กรมที่ดินดำเนินการเพื่อออกเอกสารสิทธิและสิทธิการทำกินในที่ดินของรัฐเพื่อให้ชาวบ้านที่ทำกินในที่ดินของรัฐสามารถได้เอกสารสิทธิและสิทธิในการทำกินก็เร่งดำเนินการอยู่เต็มที่ ขอให้มั่นใจว่า ทุกอาชีพที่มีอยู่ จะได้รับการดูแล และจะดีกว่าเดิม เมืองต้นแบบ มาเพื่อพัฒนา เพื่อสร้างความเจริญ ไม่ได้มาเพื่อทำให้อาชีพเดิมของคนในพื้นที่เสียหาย เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวท้ายสุด