(สกู๊ปข่าวพิเศษ)เมือง ไม้ขม ยังน่าเป็นห่วง สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
(สกู๊ปข่าวพิเศษ)เมือง ไม้ขม ยังน่าเป็นห่วง สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้ว่าวันนี้ เสียงปืน เสียงระเบิดจะ เบาบางลง เพราะ บีอาร์เอ็น ไม่ปฏิบัติการในการ”เอาคืน” กับการที่ “แนวร่วม” ถูกจับกุม ถูกวิสามัญ จากการเกี่ยวข้องกับ ยาเสพติด โดย บีอาร์เอ็น เปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ไปสู่เรื่อง”การเมือง”ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์” ของ “แกนนำ” รุ่นใหม่ ที่เชื่อมโยงกับ เอ็นจีโอ ในต่างชาติ
แต่ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ การก่อการร้ายเท่านั้น เพราะมีปัญหาที่แทรกซ้อนเข้ามา และ เชื่อมโยงกับเรื่องของความมั่นคงอยู่ตลอดเวลา ชนิดที่ ปัญหาแรกยังไม่จบ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น เหมือนกับไฟกองแรกที่ยังดับไม่ได้ ก็มีไฟกองใหม่เกิดขึ้นตามมา จนสุดท้าย ไฟกองเก่าก็ไม่ดับ ไฟกองใหม่ก็ถูกจุดขึ้นอีกหลายๆกอง
เช่นวันนี้ การก่อการร้ายที่มี บีอาร์เอ็น เป็น แกนนำ ก็ยังไม่มีช่องทางว่าจะยุติ ก็มีไฟกองใหม่ที่เกิดจากองค์กรชาวพุทธหลายๆองค์กร ที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา ต่อต้านการขยายพื้นที่ของศาสนาอิสลาม ต่อต้านการสร้างศาสนาสถานของศาสนาอิสลาม และ พรบ.ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่อง ศาสนา และ ฮาลาล รวมทั้งการเดินสายเพื่อ”เปิดโปง” ขบวนการ บีอาร์เอ็น ต่อชาวพุทธทุกภาค
ก็เห็นด้วยกับการเดินสายเปิดโปง แผนการของ บีอาร์เอ็น ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับคนไทยทั้งชาติได้รับรู้ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ โดยรอให้ รัฐบาล หรือหน่วยงานความมั่นคง ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงของ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกรัฐบาลต่างเข้าใจว่า การบอกข้อเท็จจริงถึงความเป็นมาของ ขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย จะเป็นการ”ยกระดับ” โดยให้ความสำคัญกับ บีอาร์เอ็น เพื่อนำไปสู่ องค์กรก่อการร้ายสากล และเข้าไปมี บทบาท ในเวทีของ สหประชาชาติ ทั้งที่วันนี้ บีอาร์เอ็น มีทั้งตัวแทน มีทั้งพี่เลี้ยง และที่ปรึกษา อยู่ในสหประชาชาติ อย่าง หน่วยงานกาชาดสากล หรือ “ไอซีอาร์เอ็น” และ เอ็นจีโอสากลอย่าง “เจนีวาคอล”
แต่ การขับเคลื่อนในการร้องเรียน ฟ้องร้องต่อรัฐขององค์กรชาวไทยพุทธ ให้ตรวจสอบ พรบ.ฮัจจ์ ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ดี ในเรื่อง พรบ.ฮาลาล ก็ดี และรวมถึงการ คัดค้านมิให้มีการก่อสร้างศาสนาสถาน ล้วนเป็นหนทางที่นำไปสู่ความ ขัดแย้ง ทางศาสนาทั้งสิ้น
สังเกตได้ว่า ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา มีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างองค์กรศาสนา กับองค์กรของพี่น้องไทยพุทธ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านศาสนาอิสลามหลายกรณี แม้แต่ในสภาผู้แทนก็มี สส.จาก จ.สงขลา ตั้งกระทู้ถาม นายกรัฐมนสตรี ถึงเรื่องความ “ขัดแย้ง” ในเรื่องดังกล่าว และล่าสุดหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวันมูฮัมมัด นอร์ มะทา ได้เป็นโจกท์ยื่นฟ้อง ผู้นำองค์กรไทยพุทธองค์กรหนึ่ง ที่ไปกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐานว่า เป็นหัวหน้าขบวนการ บีอาร์เอ็น
จริงอยู่ที่ในส่วนของ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า ฟ้องเพื่อปกป้องชื่อเสียงเกียรติภูมิ วงศ์สกุลของตนเอง เพื่อมิให้สังคมเข้าใจผิด แต่กับคนในพื้นที่ ทั้งพุทธและมุสลิม อาจจะไม่ได้คิดเช่นนั้น และอาจจะทำให้เกิดการ”ร้าวลึก” และ”ร้าวฉาน” ที่นำไปสู่ความ”แตกแยก” ให้มากยิ่งขึ้น
นี่คือ ไฟกองใหม่ ที่ถูกจุดขึ้นแล้ว และกำลังลุกลาม เพื่อเผาบ้านเผาเมืองอีกกองหนึ่ง แน่นอนองค์กรปกป้องศาสนาพุทธ หรือองค์กรพิทักษ์ชาวไทยพุทธ ในชื่อต่างๆ ก็ไม่ผิด และมีสิทธิที่จะปกป้องชาวไทยและพุทธศาสนาได้ แต่ผู้ที่ผิดคือ รัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคง ที่ปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ปล่อยให้มีการ จุดไฟความขัดแย้งทางศาสนาขึ้น โดยที่ยืนดู”ไฟลามทุ่ง” และไม่มีท่าที่ในการที่จะดับไฟ
ทั้งที่รู้ว่า ไฟกองนี้ เข้าทางของ บีอาร์เอ็น และของ ฝรั่งหัวแดง ที่ต้องการเห็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่มาจากความขัดแย้งทางศาสนา วันนี้ บีอาร์เอ็น จึงไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ก็สามารถที่จะจุดไฟความขัดแย้งทางศาสนาให้เกิดขึ้นได้ และหากรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคง ยังไม่ดำเนินการดับไฟกองนี้ นี่คือไฟใต้ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการ แบ่งแยกดินแดน ที่แท้จริง
และไฟอีกกองที่ถูกก่อขึ้น คือไฟจากแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือโครงการ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา ที่กลายเป็นความขัดแย้ง ระหว่างรัฐ ที่มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นตัวแทน กับ กลุ่มผู้ที่”เห็นต่าง” ในพื้นที่ จำนวนหนึ่ง ที่มี องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ”เอ็นจีโอ” เป็นตัวแทน
และ แน่นอน เมื่อ”ตาอิน”กับ”ตานา” ทะเลาะเบาะแว้งกัน ผู้ที่ได้ประโยชน์คือ”ตาอยู่” และ”ตาอยู่”ที่ว่าคือ “บีอาร์เอ็น และ รัฐบาล ของประเทศมาเลเซีย เพราะ บีอาร์เอ็น กลัวการพัฒนาใน 3 จังหวัด 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพราะการพัฒนาจะทำให้ปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน ถูกแก้ไข และทำให้คนในพื้นที่ ฉลาด มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็น สิ่งที่ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนถือว่าเป็น”ศัตรู” ของเขา
ดังนั้น ความ ขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับชาวบ้านกลุ่มที่”เห็นต่าง” ในโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ของ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็น”เหยื่อ” ของ บีอาร์เอ็น เป็นกองไฟกองใหม่ ที่จะถูกนำไปขยายผลถึงความขัดแย้ง และอาจจะถึงขึ้นเข้าร่วมวง”คัดค้าน” เพราะ บีอาร์เอ็น กลัวความสำเร็จของการ พัฒนาพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ติดตามข้อมูลของทั้ง เอ็นจีโอ และ ศอ.บต. ในเรื่องของความ”เห็นแย้ง” และความ”เห็นต่าง” ของ โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จะเห็นร่องรอยของประเด็นใหญ่ๆอยู่ 2 ประเด็น คือฝ่าย เอ็นจีโอ เห็นว่า การนำพื้นที่ อ.จะนำไปเป็น”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ใช่แนวทางของการพัฒนาที่ถูกต้อง และมองว่าเป็นการทำลายมากกว่าการสร้างความเจริญ
และประเด็นที่ 2 มองว่า ทำไม ศอ.บต. ต้องลงมา “ลุยไถ” ด้วยตัวเอง ทั้งที่ โครงการทั้งหมดเป็นของ”กลุ่มทุน” เพียง 2 กลุ่ม รวมทั้งมองว่า ขบวนการรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. ไม่ถูกต้อง เป็น”พิธีกรรม” มากกว่าการให้คนในพื้นที่เข้าถึงข้อมูล
ในส่วนของ ศอ.บต. ได้ชี้นำในประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือมากกว่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จาก”เมืองต้นแบบที่ 4” ทั้งประโยชน์ที่ตกกับประชาชน และที่ตกกับประเทศชาติ
เช่น เราจะฝากอนาคตของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้กับการเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว เราจะฝากอนาคตไว้กับการท่องเที่ยวก็ไม่ได้อีกแล้ว ถ้าไม่มีการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แรงงานที่ไม่มีงานทำจะไปอยู่ตรงไหน นักศึกษาที่จบออกมาปีละ 75,000 คน จะไปทำอะไร การเกิดขึ้นของ “เมืองต้นแบบที่ 4” จะเป็น “ห่วงโซ่” ในการ เชื่อมต่อให้เกิดอุตสาหกรรม และการลงทุนอื่นๆ ทั้งที่เป็นของ”กลุ่มทุน” และของ ชาวบ้าน ในพื้นที่ตามมา
และ มีการยืนยันโดยกลุ่มทุนว่า”เมืองต้นแบบที่ 4” แห่งนี้ จะไม่มีการก่อสร้าง ปิโตรเคมี แม้แต่โรงไฟฟ้าก็เป็น”พลังงานสะอาด” ที่ไม่มี”มลภาวะ”เกิดขึ้น และที่สำคัญ วันนี้ยังอยู่ในขบวนการ ให้ประชาชนรับรู้ รับฟังความคิดเห็น ยังมีขบวนการอีกยาวนานในการที่จะบอกว่า สร้าง หรือ ไม่สร้าง เพราะทุกอย่างอยู่ที่ ความต้องการ หรือไม่ต้องการของ ประชาชน
และที่สำคัญ อาชีพประมง อาชีพเกษตร ที่เป็นอาชีพดั่งเดิม ของคนในพื้นที่ก็ไม่ได้ ล้มหายตายจาก เพราะขณะนี้ได้มีการเตรียมก่อสร้างท่าเทียบเรือประมงชายฝั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกของผู้ประกอบอาชีพประมง และการร่วมกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าในกลุ่มของแม่บ้าน
นั้นคือ เหรียญ 2 ด้าน ที่ทั้ง 2 ฝ่ายหยิบยกขึ้นมาให้คนทั้งประเทศได้เห็นและได้ฟัง ซึ่งวันนี้ยังไม่มีใครผิด ใครถูก และอาจจะเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นทางออกที่ดี โดยที่ไม่ต้องกลายเป็น”เหยื่อ” ทั้งของ บีอาร์เอ็น และของ มาเลเซีย คือการ หาทางออกร่วมกัน เลิกการใช้”วาทกรรม” เลิกการ”ปลุกปั่น” ให้เกิดความ เกลียดชัง และให้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพื่อการเอาชนะ โดยใช้ ประชาชน เป็นตัวประกัน
“ไฟใต้” ที่เกิดจากก่อการร้าย อาจจะต้องใช้อาวุธ และกำลัง ในการเข้า”ห้ำหั้น”กัน ไฟใต้ ที่ขัดแย้งกันด้วยเรื่อง”ศาสนา” อาจจะต้องใช้ขบวนการทางกฎหมาย ในการ “หยุดยั้ง” การลุกลามของไฟศาสนา แต่”ไฟใต้” ที่มาจากประเด็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง กรณี “เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องแก้ไขด้วย”ปัญญา” ด้วยการทำความเข้าใจ และเคารพเหตุผลซึ่งกันและกัน
และที่สำคัญ เอ็นจีโอ ต้องเปิดใจกว้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ คนที่เห็นด้วย ได้มีพื้นที่แสดงความเห็น โดยไม่ไปปิดกั้นด้วยวิธีการ “ล้มเวที” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะการกล่าวหากลุ่มคนที่เห็นด้วยกับโครงการว่า”ถูกหลอก” และ”รับเงิน” เป็นการกล่าวว่าที่”ดูถูก”คนในพื้นที่ด้วย และเป็นการแบ่งชนชั้น ที่ทำให้เห็นว่า คนที่”เห็นต่าง”และ เชื่อ เอ็นจีโอ คนฉลาด ส่วนคนที่เชื่อฝ่ายรัฐคือ คนโง่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้นในเวทีเพื่อสร้างความรับรู้ให้กับคนในพื้นที่เกี่ยวกับรายละเอียดของ”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ค. ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ฝ่ายที่”เห็นต่าง” ต้องไม่ใช่วิธีการเดิมๆ เพื่อ ปิดกั้น หรือ ล้มเวที เพราะถ้าทำเช่นนั้น เท่ากับว่า เอ็นจีโอ กลัวชาวบ้านจะรับรู้ข้อเท็จจริง จึงทำการปิดกั้นการรับรู้ และที่สำคัญคือถ้า ใครพูดเรื่องไม่จริงมากเท่านั้น ใครโกหกประชาชนมากเท่าไหร่ ย่อมเสียหายมากเท่านั้น และจะเป็นตัวชี้ขาดว่า ใครที่หลอกลวงประชาชน เพราะสังคมวันนี้ ไม่มีใคร โง่ ใคร ฉลาดกว่าใคร ความรู้ ข้อเท็จจริงหาได้จาก”ปลายนิ้ว” ของทุกคน
หมดยุคที่จะ บอกว่า ใครโง่ ใครฉาด และใครถูกหลอก ยกเว้นยอมที่จะให้หลอก แต่ที่แน่ๆคือ ถ้า สถานการณ์ที่ อ.จะนะ บานปลาย ผู้ที่นั่ง”ตีรำมะนา” สบายใจเฉิบ คือ ขบวนการ บีอาร์เอ็น นั่นแหละ