(รายงานพิเศษ) หลังจากที่ ภาคประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีตัวแทนที่เป็น”ปากเสียง”ในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้( ศอ.บต.) มานานถึง 6 ปี

(รายงานพิเศษ) หลังจากที่ ภาคประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีตัวแทนที่เป็น”ปากเสียง”ในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้( ศอ.บต.) มานานถึง 6 ปี

 

 

เนื่องจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)ได้สั่งให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ยกเลิก พ.ร.บ.ศอ.บต. ในส่วนที่เป็น “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
โดยในห้วงที่ คสช.ใช้อำนาจในการบริหารประเทศนั้น ได้มีการ”ปัดฝุ่น”สภาที่ปรึกษาฯมาแล้ว 2 ครั้ง ด้วยวิธีการ”สรรหา” ตัวแทนภาคประชาชน จากสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” แต่สุดท้ายรายชื่อที่ผ่านการ”คัดเลือก”จาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ก็”แท้ง” แบบ”ตายพราย” เนื่องจาก คสช. ไม่มั่นใจว่า การมีคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ จะเป็นผลดี หรือผลเสีย ต่อ คสช.กันแน่


เหตุและผล ที่ คสช. ไม่มั่นใจ ในการให้มี คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ อาจจะเป็นเพราะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องความมั่นคง การก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน เรื่องของ”ศาสนา” และ”การเมือง” โดยเฉพาะเรื่องของ”การเมือง” ซึ่งเป็น”ที่มั่น” ของพรรคฝ่ายค้าน ที่ถูกมองอย่างหวาดระแวงจากหน่วยงานความมั่นคงมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีต จนถึง ปัจจุบัน
ทั้งที่ โดยข้อเท็จจริง การที่ พ.ร.บ.ศอ.บต. ได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชน โดยให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประโยชน์แก่ ศอ.บต. เป็นอย่างยิ่ง ในแง่ของการมีส่วนของภาคประชาชน เพื่อ ขับเคลื่อนการทำงานของ เลขาธิการ ศอ.บต. รวมทั้งสามารถเป็น”เกราะ”ป้องกันการ”กระแทก” ให้กับผู้บริหาร ศอ.บต.ได้ด้วย
เพราะสามารถทำให้ ผู้บริหารของ ศอ.บต. ได้รับรู้ถึงสภาพที่เป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ ความต้องการของประชาชนในด้านการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาอาชีพ และความ ทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ทำการ พัฒนาได้ถูกทิศทาง ตามความต้องการของพื้นที่ และของประชาชน


และคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ซึ่งถูกกำหนดจาก พ.ร.บ. ศอ.บต. นั้น มาจากตัวแทนทุกภาคส่วนของประชาชน เช่นผู้แทนจากปกครองท้องถิ่นเช่น นายก อบจ. นายกเทศบาล หรือนายก อบต. จังหวัดละ 1 คน ผู้แทนจากปกครองท้องที่ หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดละ 1 คน ผู้แทนจากเจ้าอาวาส และผู้แทนจากผู้นำศาสนาอิสลาม จังหวัดละ 1 คน ผู้แทนจากศาสนาอื่นๆ 1 คน ผู้แทนจากสตรีจังหวัดละ 1 คน ผู้แทนจากบุคคลกรการศึกษาจังหวัดละ 1 คน ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดๆละ 2 คน ตัวแทนเด็กและเยาวชน 3 คน จาก 5 จังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ 2 คน ผู้แทนสื่อมวลชน กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 2 คน ผู้แทนหอการค้า 1 คน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม 1 คน ผู้แทนสภาเกษตรกร 1 คน ผู้แทนสมาคมท่องเที่ยว 1 คน ผู้แทนสมาคมประมง 1 คน ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 5 คน รวมกัน 60 คน


และเป็นที่น่ายินดีเล็กๆกับประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ศอ.บต.เพราะ ที่สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ ศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการสรรหา คณะกรรมการที่ปรึกษาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. ตามมาตร 23 ( 2 ) เพื่อให้คำปรึกษา เสนอแนะ ร่วมมือ และประสานงานกับ ศอ.บต. ตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. พ.ศ.2553 และ มาตรา 23 (4) ให้ความเห็นในเรื่องที่นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการ ศอ.บต. เห็นว่าสมควรได้รับฟังความเห็นจาก”สภาที่ปรึกษาฯ” เพื่อประกอบการพิจารณา ในการบริหาร การพัฒนา และการแก้ไขปัญหาต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งให้มีอำนาจตาม ตามมาตร 23 ( 8 ) เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อการช่วยเหลือ หรือปฏิบัติการตามความเหมาะสม
ที่บอกว่า น่ายินดีเล็กๆไม่ใช่การยินดีใหญ่ๆ ก็เพราะ คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยคำสั่งของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ยังมีคำสั่งให้งดใช้มาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ. สภาที่ปรึกษาฯหลายมาตราด้วยกัน ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญกับการ ขับเคลื่อน เพื่อแก้ปัญหาในหลายด้านของพื้นที่


เช่นการงดใช้ บทบัญญัติมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 ( 1 ) (2 ) (5 ) ( 6 ) ( 7 ) และ ( 9 ) มาตรา 26 และ 27 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการเลือกตั้ง และประเทศมีประชาธิปไตยแล้ว แต่รัฐบาล ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง ความมั่นคง และยังไม่ไว้วางใจ ที่จะคืนอำนาจให้กับ ตัวแทนประชาชน ตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. เหมือนในอดีต
และ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา สภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. ที่ห่างหายไปถึง 6 ปี ก็ได้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง เมื่อมีการเปิดประชุมนัดแรก เพื่อให้สมาชิกทั้ง 60 ชีวิต ได้มีการลงมติเลือกตั้งคณะผู้บริหารสภาฯ คือการเลือกประธานสภา รองประธานและ เลขานุการ ของสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อให้เป็นตาม พ.ร.บ. ที่ถูกตราขึ้น


ซึ่งนับแต่นี้ไป คนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะได้มีตัวแทนทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เป็น”ปากเสียง” สะท้อนถึงปัญหา สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพ รวมถึงปัญหาในเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในกรอบตามมาตรา 23 ( 2 ) ( 4 ) ซึ่งแม้ว่า กรอบของการทำหน้าที่ จะมีไม่มาก แต่ก็ยังเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ถือว่าประชาชน จะได้ประโยชน์ จากการมี คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ที่ตั้งขึ้น
ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เหมือนกันทั้งประเทศซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ”โง่” นั้นคือปัญหาเรื่องการศึกษา “จน” นั้นคือปัญหาของ”ปากท้อง”เศรษฐกิจ และ”เจ็บ” คือเรื่องของ สาธารณสุข แล้ว ที่นี่ยังมีปัญหาอีกมากมาย ทั้งเป็นจังหวัดที่ ยากจนที่สุด มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด มีปัญหาการศึกษามากที่สุด มีปัญหาเรื่อง “สุขภาวะ หรือ สาธารณสุข มากที่สุดแล้ว ที่นี้ยังมีปัญหาเรื่อง ความไม่ปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สิน จากการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน ความ”ขัดแย้ง” ใน สังคม ทั้งในด้าน”ชาติพันธุ์” ด้าน”ศาสนา” และ”ประวัติศาสตร์” ที่ยังต้องใช้เวลาในการ “คลี่คลาย” เพื่อนำพื้นที่ไปสู่ความเป็น”พหุวัตนธรรม” เพื่อนำไปสู่ความเป็นพื้นที่”สันติสุข” ในอนาคต


นอกจากนั้น ในพื้นที่ ซึ่งมากด้วย”งบประมาณ” ที่ใช้ในการ”ดับไฟใต้” จากหลายๆหน่วยงาน ที่ถูกนำมาลงในพื้นที่ โดยอ้างเพื่อการสร้าง”สันติสุข” ซึ่งจะพบว่า ยังเป็นการพัฒนาที่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด หลายหน่วยงานนำงบมา”ละเลงเล่น” เพื่อที่จะตอบโจทย์ว่า”ได้ทำ” เท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าทำแล้ว”ได้ผล”หรือ สูญเปล่า ดังนั้นจึงกลายเป็นการนำงบที่เป็นเงินแผ่นดิน เป็นเงินภาษีของประชาชน มา”ละเลงเล่น” หรือการ”ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เพราะไม่มี ภาคประชาชน ทำหน้าที่ตรวจสอบ และเสนอความคิดเห็น นั่นเอง
การ”ทุจริต” งบประมาณ หรือเรื่องของ”เงินทอน” ตามโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีทั้งประเทศ ไม่ว่าจะ 20 ,30, หรือ 40 เปอร์เซ็น ยังป้องกันได้ ยังไม่น่ากลัวเท่ากับการ เอาเงินงบประมาณมาทำโครงการที่สูญเปล่า ไม่ได้ประโยชน์กับพื้นที่และประชาชน ตรงนี้ต่างหากที่น่ากลัว และต้องป้องกันอย่าให้มีเกิดขึ้น

ก็หวังว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาและการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดนี้ จะได้ใช้ความรู้ความสามารถในการเป็น”ครม.น้อย ในสภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมหมายทั้งการทำประโยชน์ให้ รัฐบาล เห็นถึง คุณประโยชน์ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ ศอ.บต. ได้รับจากการ ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ปลด”ล็อคดาวน์” ให้ได้ใช้ พ.ร.บ.เต็มฉบับ เพื่อทำประโยชน์ให้กับ คนใน 5 จังหวัด และ ศอ.บต. อย่างแท้จริง

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

You may have missed