ชาวชัยภูมิและขอนแก่น พร้อมใจร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 1 พัฒนาแหล่งกักเก็บพลังงาน เสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ขอขอบคุณชาวชัยภูมิและขอนแก่น ที่พร้อมใจเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับและระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยจะนำความคิดเห็นที่ได้ไปกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้ครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ

 

 

วันที่ 12 – 13 กันยายน 2563 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ต่อการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับและระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ โดยมี ประชาชนในพื้นที่ศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการ สถานศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563

มีนายเสกสรร สวัสดิ์ศรี นายอำเภอคอนสาร เป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นของโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ช่วงที่ผ่านพื้นที่อนุรักษ์ ณ หอประชุมโรงเรียนทุ่งลุยลาย (กฟผ.อุปถัมภ์) ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และในวันที่ 13 กันยายน 2563 มีนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนคอนสารวิทยาคม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ รวมมีประชาชนเข้าร่วมการประชุมทั้งหมดจำนวน 702 คน มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา 24 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากประชาชนในพื้นที่ อ.คอนสาร อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ และ อ.ภูผาม่าน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขอขอบคุณ กฟผ. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยดำเนินการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการประชุมครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลครบถ้วนทุกด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวชัยภูมิและชาวขอนแก่น

นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 2 เวที โดยข้อมูลและข้อคิดเห็นต่าง ๆ ล้วนมีคุณค่าต่อการกำหนดขอบเขตการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมบูรณ์ เหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ มีกำลังผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ อยู่ในขั้นตอนการวางแผนและศึกษา เพื่อผลักดันสู่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ ใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นลำน้ำสุ (อ่างเก็บน้ำตอนล่าง) ซึ่งอยู่ท้ายน้ำโรงไฟฟ้าเขื่อนจุฬาภรณ์ประมาณ 5 กิโลเมตร ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ โรงไฟฟ้าจะทำการสูบน้ำบางส่วนกลับขึ้นไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ (อ่างเก็บน้ำตอนบน) แล้วระบายน้ำผ่านโรงไฟฟ้าใต้ดินอีกครั้ง เพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ถือเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการดำเนินการปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมจาก 115 กิโลโวลต์ เป็น 230 กิโลโวลต์ จะไม่มีการขยายแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มเติม ทั้งนี้ โครงการฯใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 ปี จะก่อให้เกิดการใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น รวมถึงการจ้างงานให้กับชุมชน เมื่อเปิดดำเนินโครงการฯ ยังสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสสร้างรายได้และอาชีพแก่ชุมชน อีกทั้งยังได้รับงบประมาณในการพัฒนาชุมชนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอีกด้วย

นายชูลิต วัชรสินธุ์ ผู้จัดการโครงการ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ และรายละเอียดขอบเขตการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ริมลำน้ำพรมและริมลำน้ำเชิญ รวมถึงส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น

 

สำหรับสิ่งที่ประชาชนมีความกังวล ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะในช่วงภัยแล้ง เพื่อให้ชุมชนมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า การจ้างแรงงานในพื้นที่ การดูแลความปลอดภัยทางถนนในช่วงการก่อสร้าง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและบูรณาการพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งทุกข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง บริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อมูลข้อเสนอแนะที่ได้ไปกำหนดขอบเขตการศึกษาของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับและระบบโครงข่ายไฟฟ้า จ.ชัยภูมิ เพิ่มเติมให้ครบถ้วนต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการพัฒนาโครงการได้จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2563 โดยส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ที่ นางสาวชมภู ภาคภูมิ (นักวิชาการประชาสัมพันธ์) โทรศัพท์ 0 2943 9630 ต่อ 1624 โทรสาร 0 2943 9614 บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด อาคารเดอะปัณณ์ เลขที่ 125 ถนนคลองลำเจียก แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 หรือ Email : [email protected]

 

You may have missed