เกษตรกรขอนแก่น เตรียมจดวิสาหกิจชุมชน เสริมอาชีพสร้างรายได้ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
เกษตรกรขอนแก่น เตรียมจดวิสาหกิจชุมชน เสริมอาชีพสร้างรายได้ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ 27 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง บ้านโนนสวรรค์ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ผอ.มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นไทย เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “วิสาหกิจไทย สร้างชาติ สร้างอนาคต” เพื่อเตรียมส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหลังสภาวะโรค covid-19 ระบาดที่ผ่านมา
ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ผอ.มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นไทย ได้เปิดเผยว่า ในแต่ละรัฐบาลจะต้องนำเอางบประมาณในแต่ละปี มาส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยผ่านมายัง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” ทางตนจึงได้เล็งเห็นความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง “จาก ร.9 ถึง ร.10 สู่ผองไทยทั่วแหล่งหล้า สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” เพราะตลอดช่วงเวลากว่า 4 ทศวรรษที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สยามมกุฎราชกุมาร” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเรียนรู้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในด้านต่าง ๆ อย่างทรงพระวิริยะ
เมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์ พระองค์ทรงมุ่งมั่นสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ปวงประชาชนชาวไทยสืบไป ด้วยเหตุนี้เองทาง “เครือข่ายภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นไทย” จึงได้ออกมาให้ความรู้กับตัวแทนเกษตรดร ในจังหวัดขอนแก่นเกี่ยวกับการ “จดจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน” และ “การร่างของบประมาณกับทางจังหวัด และ รัฐบาล” นอกจากนั้นแล้วพร้อมเตรียมส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ ได้มีอาชีพกันแล้วค่อยดำเนินการจดจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อไป
ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า การจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” คือ “การประกอบการขนาดเล็ก เพื่อจัดการทุนของชุมชนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการพึ่งพาตนเองและความเพียงพอของครอบครัวและชุมชน ทุน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงเงิน แต่รวมถึงทรัพยากร ผลผลิต ความรู้ ภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางสังคม (กฎเกณฑ์ทางสังคมที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เป็นพี่น้องไว้ใจกัน) ให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืนยังประโยชน์ให้ชุมชนผู้เป็นเจ้าของวิสาหกิจนั้นเป็นหลัก” และยังเป็นการประกอบการ ซึ่งรวมถึงกระบวนการคิด การจัดการผลผลิต และทรัพยากรทุกขั้นตอนโดยมีภูมิปัญญาขององค์กรชุมชนหรือเครือข่ายขององค์กรชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการเรียนรู้ของชุมชน
ซึ่งมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการสร้างกำไรทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงกำไรทางสังคม ได้แก่ ความเข้มแข็งของชุมชนและความสงบสุขของสังคมด้วย นอกจากนั้นแล้ว “วิสาหกิจชุมชน”ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 นั้น วิสาหกิจชุมชน คือ “กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้าการให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรูปนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนประกาศกำหนด”