(สกู๊ปข่าวรายงานพิเศษ)ก่อนที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) จะดำเนินการ”ขับเคลื่อน” เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”
(สกู๊ปข่าวรายงานพิเศษ)ก่อนที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) จะดำเนินการ”ขับเคลื่อน” เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”
ตามคำสั่งของ รัฐบาล นั้น ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการ ผลักดัน โดยรัฐบาลให้มีการตั้ง เมืองต้นแบบที่ 1 ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่เรียกว่า”เมืองเกษตร อุตสาหกรรม” ไปก่อนหน้าแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ได้มี กลุ่มทุนจากประเทศจีน เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อแปรรูปผลผลิตจากการเกษตร เช่น โรงงานแปรรูปทุเรียน โรงงานแปรรูปมะพร้าว โรงงานเฟอร์นิเจอร์ และโรงงานปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
ส่วนเมืองต้นแบบที่ 2 ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นเมือง ที่เช่นการท่องเที่ยว ที่กำลังจะเปิดสนามบินในเร็วนี้ และมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่คนในพื้นที่ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านรู้จักกันดี คือ”หมอก” ที่อัยเยอร์เวง ที่กำลังจะมี “สกายวอร์ค” มี ธารน้ำร้อน ธารน้ำเย็น และสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลากหลาย รวมทั้ง อาหารของชาว “กวางใส” ตั้งเดิม ที่มีที่เดียวในประเทศไทย ซึ่งวันนี้ เมืองต้นแบบทั้ง 2 จังหวัด ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่มั่งคง และสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่อย่างน่าพอใจ รวมทั้งมีการ”ต่อยอด” ใน การค้า การลงทุน ที่ตามมาอีกมาก เช่น โฮมสเตย์ ที่เป็นของชาวบ้าน อาชีพขายสินค้า อาหาร และบริการอื่นๆ เช่นรถ จยย.รับจ้าง รถยนต์ รถตู้ รับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งกลายเป็น รายได้ ของคนในพื้นที่ อันมาจากการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบ” ที่ อ.เบตง
ส่วนเมืองต้นแบบที่ 3 ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่ง เน้นที่ การเป็นเมืองการลงทุนการส่งออก และธุรกิจระหว่างประเทศ วันนี้ต้องยอมรับว่า การขับเคลื่อนยังเป็นไปด้วยความล่าช้า ทั้งที่ไม่มีการ ต่อต้าน ไม่มีผู้”เห็นต่าง” ความล่าช้า เกิดจากเรื่อง”ภายใน” รวมทั้ง หน่วยงานที่รับผิดชอบที่ยังเป็น”เรือเกลือ” นั่นเอง
เมืองต้นแบบที่ 4 จึงเป็นเมืองสุดท้าย ในนโยบายการขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ สอดรับ กับปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนว่า การที่จะให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “วนเวียน” ในวิถีทางเดิมๆ ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความ” มั่นคง,มั่งคั่ง ยั่งยืน”ในการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน
คนรุ่นเก่า อาจจะมีวิถีชีวิตอยู่ได้แบบเดิมๆ คือการทำการเกษตร ปลูกยาง ทำสวนผลไม้ ทำไร่ ทำนา ปศุสัตว์ และ ประมงพื้นที่บ้าน ซึ่งอยู่ได้แต่ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม และไม่สามารถสร้างอนาคตใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนในครอบครัวอย่างแน่นอน ปัญหาเก่าของจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ อัตราคนว่างาน ซึ่งในยามปกติ คนใน 3 จังหวัด 4 อำเภอ จะเดินทางไป รับจ้าง ในประเทศมาเลเซีย 150,000-200,000 คน และยังมีคนว่างงานในพื้นที่ ซึ่งไมได้ไปทำงานที่ มาเลเซียอีกไม่ต่ำกว่า 100,000 คน วันที่ มาเลเซียปิดประเทศ เพราะ”โควิด 19” คนว่างงานจึงกลายเป็น ปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น
ที่ตัวเลขสำหรับ นักศึกษาที่เรียนจบการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 75,000 คนต่อปี ถ้าไม่มีการการออกแบบให้มีเมืองต้นแบบใน 4 จังหวัด จะหางานที่ไหนให้ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ หรือจะต้องให้เขา ว่างงาน กลายเป็นปัญหาสังคม เหมือนกับคนรุ่นก่อนที่เป็นอยู่
นี่อาจจะเป็นเหตุผลหลักๆ ที่จำเป็นต้องมี”ทางเลือก” ในการ แก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการ ส่งเสริมให้มี”โปรเจก” ที่เป็นเรื่องของ”อุตสาหกรรม” ซึ่งได้เลือกแล้วว่า เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มี”ปิโตรเคมี” เป็นส่วนประกอบ
เพราะอุตสาหกรรมที่เป็น”ปิโตรเคมี” มีบทเรียนที่สร้างความเสียหายให้ต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการแก้ปัญหา อย่างที่เกิดขึ้นกับ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หรือ”อิสเทิร์นซีบอร์ด” ที่ถูก เอ็นจีโอ นำมาขยายผลให้เกิดการต่อต้านการเกิดขึ้นของ อุตสาหกรรม ในประเทศไทย และถึงแม้ว่า วันนี้ ปัญหาจะเบาบาง เพราะการแก้ที่เกิดขึ้น แต่ภาพในอดีตก็ถูกนำมา”ฉายซ้ำ” เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นเพื่อให้มีการต่อต้าน เมืองต้นแบบแห่งนี้
จริงๆแล้ว บทเรียนที่เกิดกับ”มาบตาพุด” หรือ “อิสเทิร์นซีบอร์ด” นั้น คือสิ่งที่เป็น บทเรียน ให้การ ให้กับรัฐบาล ให้กับผู้ลงทุน และประชาชน ในการที่จะป้องกัน อย่างให้เกิดขึ้นกับโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
การเข้ามาดำเนินการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ โดยข้อเท็จจริง คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ได้เข้ามาสร้างขบวนการรับรู้ให้กับคนในพื้นที่ ถึงความเป็นมาของ “เมืองต้นแบบที่ 4 ที่จะเป็นโอกาสในการ สร้างงาน สร้างเงิน และสร้างอนาคตให้เกิดขึ้น ในส่วนของ ประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เมืองต้นแบบที่ 4 เพราะถูก เอ็นจีโอ ให้ข้อมูลว่า การเข้ามาของ ของ อุตสาหกรรม จะทำให้ อาชีพประมงพื้นบ้าน “หายนะ”โดยข้อเท็จจริงจะเห็นว่า ศอ.บต. ได้ดำเนินการจัดงบประมาณในการก่อสร้างท่าเรือประมงพื้นบ้านที่ถาวร ให้กับผู้ที่มีอาชีพประมงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีท่าเทียบเรือ สร้างความยากลำบากให้กับเรือประมงในการนำเรือเทียบท่าและขนส่งสัตว์น้ำ รวมทั้งการให้งบประมาณในการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านประมงพื้นบ้าน เพื่อรวมกลุ่มในการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำด้วยการ”แปรรูป” ซึ่ง ศอ.บต.ทำได้ผลในหลายพื้นที่ ที่เป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ใน จ.ปัตตานี เช่นที่ อ.สายบุรี ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นต้น เป็นการ แสดงให้เห็นว่า แม้จะมี อุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่อาชีพประมง ยังอยู่ได้และอยู่อย่างมีอนาคต อุตสาหกรรม เมืองต้นแบบที่ 4 มีมาเพื่อ”ไล่ล่า” ให้ ประมงพื้นที่ ตกทะเลอย่างที่เข้าใจ
ในส่วนของประชาชนที่เป็นเกษตรกร ศอ.บต.ได้ดำเนินนโยบายให้กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจ เพื่อออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดิน ทั้งที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินเขตห้ามล่า ที่ดินเขตป่าสงวน ที่ดินทุ่งสงวนสัตว์ ซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับ คนในพื้นที่ อ.จะนะ, เทพา และ สะบ้าย้อย ที่คาราคาซังมากว่า 60 ปี
เพื่อให้ชาวบ้านที่ทำการเกษตร มั่นใจว่าจะได้รับสิทธิทำกิน จะได้รับเอกสารสิทธิ์ และไม่ถูกหลวงยึดที่คืนอย่างที่ เอ็นจีโอ ได้ปลุกระดม เพื่อให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวหวาดกลัว และต่อต้านการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ นี่ก็เป็น กลยุทธ์ ของ เอ็นจีโอ ในการสร้างความ สับสน ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน อ.จะนะ
รวมทั้ง ศอ.บต. ได้เข้าไป ผลักดัน โครงการ”ตำบลสันติสุข” ขนาดเล็ก ในการจัดงบประมาณ เพื่อพัฒนาอาชีพ การรวมกลุ่ม การต่อยอด ในโครงการต่างๆ ที่ชาวบ้านดำเนินการ โดย ติดอาวุธทางปัญญา และช่องทางต่างๆ และ งบประมาณ เพื่อเป็นการ”เติมเต็ม” ให้กับคนในพื้นที่
ที่สำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือแผนการรองรับการเกิดขึ้นของ “เมืองต้นแบบที่ 4” นั้นคือ มีการประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่อยู่ในโซนสีแดง คือ จะนะ,เทพา,สะบ้าย้อย และ นาทวี เพื่อทำนโยบายสาธารณสุขร่วมกัน คือการจัดตั้ง โรงพยาบาลศูนย์ที่ อ.จะนะ เพื่อการให้บริการคนใน 4 อำเภอ โดยไม่ต้องเดินทางมายัง โรงพยาบาลหาดใหญ่ที่เป็น โรงพยาบาลศูนย์เพียงแห่งเดียวของจังหวัดสงขลา
และมีการประชุมสถานศึกษาใน 4 อำเภอ ซึ่งเป็นที่ตั้งวิทยาลัยชุมชน เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิค และอาชีวะ เพื่อให้สถานศึกษาทั้งหมด ได้พบกับกลุ่มผู้ลงทุน เพื่อวางแผนการผลิตนักศึกษา ปวช. ปวส. ให้เป็นไปตามความต้องการของ ตลาดแรงงาน ซึ่งนี่เป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้น
ซึ่งประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่จะสร้างความ อุ่นใจ ให้กับคนในพื้นที่ว่า พวกเขาจะได้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องใช้แรงงาน 100,000 คน ขึ้นไป พวกเขาจะไม่ถูก หลอกลวง ให้หลงดีใจอย่างการเกิดขึ้นของโรงงานแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ 1 และ 2 ที่สุดท้ายพวกเขาเป็นได้ แค่พนักงานระดับล่างเท่านั้น
นี่เป็นครั้งแรก ที่เป็นขบวนการ “ร่วมกันออกแบบ” การเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบ” ที่หน่วยงานการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และยังจะตามมาด้วยหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น รวมออกแบบ กับกลุ่มทุน และหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ ขับเคลื่อน โครงการนี้ ซึ่งคนในพื้นที่ และคนในประเทศ น่าจะอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า”ไม่ได้สุกเอาเผากิน” อย่างที่ “เอ็นจีโอ” นำมาเป็นข้อมูลของการโจมตี
เหรียญย่อมมี 2 ด้าน เช่นเดียวกับ ข้อมูลที่เกี่ยวกับ เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ ก็มี 2 ด้าน เพื่อการรับรู้ เพื่อที่จะประกอบการตัดสินใจว่าจะ”เห็นด้วย” หรือจะ”เห็นต่าง” เพื่อให้ได้รับรู้ถึง ข้อดี ข้อเสีย ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติ ประชาชน และคนในพื้นที่จะได้รับจากการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ “ หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” และที่สำคัญที่สุดคือ
การที่จะ”ยุติ” ปัญหา การก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน ไม่สามารถที่หยุดได้ด้วยใช้งบประมาณในการต่อสู้ด้วยกำลังและอาวุธ ซึ่ง 16 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณไปแล้วถึง 300,000 ล้าน แต่”ไฟใต้”ยัง”โชนแสง” การตัดสินใจใช้การ”พัฒนา”จึงเป็นทางออกสุดท้ายสำหรับการ”ยุติ” ปัญหาของ ไฟใต้ ที่ชัดเจนที่สุด วันนี้คนในพื้นที่จึงต้องตัดสินใจว่า จะมาร่วมกันเขียน”ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือยัง
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์