ปัตตานีส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง พืชทางเลือกสร้างรายได้ในช่วงโควิด-19

ปัตตานีส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง พืชทางเลือกสร้างรายได้ในช่วงโควิด-19

 


นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี มอบหมายนายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัด ลงพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการผลิตด้านการเกษตร ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้าย พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในกิจกรรมส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการค้า ณ แปลงนายเจริญ ทองปล้องโต เกษตรกร Smart Farmer หมู่ที่ 1 ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี


นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จังหวัดปัตตานีได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหน่อไม้ฝรั่งพืชทางเลือกที่มีโอกาสทางการตลาดและสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ 60 ไร่ อำเภอแม่ลาน 3 ไร่ อำเภอยะหริ่ง 10 ไร่ และอำเภอปะนาเระ 12 ไร่ รวมพื้นที่ 85 ไร่ มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ ต้นพันธุ์ วัสดุปลูก ระบบน้ำ ปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงองค์ความรู้ทางด้านการผลิต เริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก การปลูก การดูแลรักษา และการใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเข้าทำลายและลดปริมาณเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคพืช ส่งผลให้เกษตรกรมีการจัดการด้านเขตกรรมที่ดี สามารถปลูกหน่อไม้ฝรั่งจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ในช่วงโควิด-19


นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นายเจริญ ทองปล้องโต เป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ภายใต้พื้นที่กว่า 5 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นนาร้าง ต่อมาเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ปรับพื้นที่โดยการขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลาและปลูกหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ตูม มีการปรับสภาพดินและพูนดินสูงจากดินเดิมประมาณ 10 เซนติเมตร ปลูกแบบแถวคู่ ระยะห่างระหว่างต้น 30 x 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างร่อง 120 เซนติเมตร มีการติดตั้งระบบน้ำแบบน้ำหยด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมและกำจัดศัตรูพืช ปัจจุบันเเปลงของเกษตรกรอยู่ในช่วงเริ่มให้ผลผลิต เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวหน่อที่โผล่พ้นเหนือดินขึ้นมาประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 27 เซนติเมตร บริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในพื้นที่ได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 150 บาท โดยในอนาคตจะพัฒนาแปลงดังกล่าวเป็นจุดเรียนรู้ ใช้ขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่สนใจทั่วไป

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

You may have missed