เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ กับการ”ขับเคลื่อน” เพื่อไปสู่ จุดหมาย ที่ต้องการ

รายงานพิเศษ โดย ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์
เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ กับการ”ขับเคลื่อน” เพื่อไปสู่ จุดหมาย ที่ต้องการ

 

 

มีความคืบหน้าไปมากแล้ว สำหรับโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก”เมืองต้นแบบที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการ”เมืองต้นแบบ” ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
ซึ่ง “เมืองต้นแบบที่ 4” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่กินพื้นที่ใน 3 ตำบล ของ อ.จะนะ จ.สงขลา นั่นคือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม บนพื้นที่ 17,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่ของเอกชนที่ ซื้อไว้นานแล้ว ดังนั้น โครงการนี้ จึงไม่มีผลกระทบในการ เวนคืน ในการโยกย้ายประชาชน และการ ย้ายศาสนาสถาน วัด วาอาราม มัสยิด และ กุโบร์ หรือ สุสานของ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด
แน่นอน เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุด ที่เคยมีในภาคใต้ เนื่องจากโครงการ นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ,เซาท์ทิร์นซีบอร์ด ,ท่าเรือน้ำลึกที่ อ.ละงู จ.สตูล ก็ถูก”ตีตก” และถูก ต่อต้าน จาก เอ็นจีโอ จนต้อง หยุดชะงัก

ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ เศรษฐกิจ การลงทุน การค้าชายแดน การส่งออก ของภาคใต้ จึงไมได้รับการพัฒนา เท่าที่ควร
แม้ว่าภาคใต้ และภาคใต้ตอนล่าง จะมีวัตถุดิบมากมาย เหมาะกับการตั้งโรงงานแปรรูปสินค้า เพื่อการส่งออก แต่สุดท้ายหลังจากที่นักลงทุนคิด”สาระตะ”หมดแล้ว ก็ไม่กล้าลงทุนในภาคใต้ตอนล่าง เพราะพื้นที่ของภาคใต้ ไม่มีท่าเรือเพื่อการส่งออก ที่เป็นท่าเรือน้ำลึกจริงๆ เพราะการไม่มีประตูส่งออก คือการทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แข่งขันไม่ได้ และอาจจะ ขาดทุน ในที่สุด
“เมืองต้นแบบที่ 4” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการอุตสาหกรรมทันสมัยทั้งหมด มีทั้งอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมขนาดเบา ที่ใช้นวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย มีโรงงานไฟฟ้าที่ไม่ก่อมลภาวะ และที่สำคัญมติ ครม.ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่มีอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ในโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” แห่งนี้


โครงการนี้มีการ “ขับเคลื่อน” โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” ซึ่งเป็นการ ขับเคลื่อนตาม พรบ.ศอ.บต. ตาม มาตรา 10 ตาม มติ ครม. และผ่านการ ขับเคลื่อนมาเป็นปีที่ 2 วันนี้จึงมีคำถามจาก คนในพื้นที่ นักลงทุน และ กลุ่มคนทั่วไป ถึงความก้าวหน้าของโครงการ ว่ามีโอกาสของความสำเร็จหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา โครงการ ขนาดใหญ่ของภาคใต้ ไม่เคยมีการ ขับเคลื่อนได้ สำเร็จ
ที่สำคัญ โครงการ” เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ ได้รับความสนใจจาก ผู้สำเร็จการศึกษา ที่ยังไม่มีงานทำ และนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจบการศึกษา เพราะโครงการนี้ถ้าเกิดขึ้นได้ จะมีตำแหน่งงานถึง 100,000 ตำแหน่ง ไว้รองรับผู้ที่ ว่างงาน และผู้ที่กำลังจะจบการศึกษา ดังนั้นจึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ


สำหรับความคืบหน้าเท่าที่ทราบ หลังจากที่ ศอ.บต. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น จากคนในพื้นที่ไปแล้ว เมื่อกลางปี 2563 และได้ส่งรายละเอียดของความคิดเห็นของคนในพื้นที่ให้กับ รัฐบาล ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งต่อมา พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ก็ได้มีคำสั่งให้ หน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำการผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยมี ศอ.บต. เป็น เจ้าภาพ ก็ทำให้การ ขับเคลื่อน เป็น รูปธรรม มากขึ้น
ในส่วนของการเปลี่ยนผังเมือง คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดสงขลา ได้มีการลงมติเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล เป็นผังเมือง” สีม่วง” เป็นเขตอุตสาหกรรมไปแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามกฎระเบียบของกรมโยธาธิการ ในการดำเนินการตามขั้นตอนของ กฎหมาย

และเท่าที่ทราบ ผังเมือง ในพื้นที่ 3 ตำบล ที่เป็นพื้นที่ของ”เมืองต้นแบบที่ 4” ไม่ได้เป็น สีม่วง ทั้งหมด แต่จะมีการกันเป็น สีเขียว ในโซนที่ เป็นที่ตั้งของโครงการ โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากชีวภาพ ชีวมวล และ ก๊าซ รวมทั้งในโซนที่เป็น อุตสาหกรรมขนาดเบา ก็จะเป็นโซนที่อยู่ในผังเมือง สีเขียว

มีการตั้งงบ 10 ล้าน บาท จาก ศอ.บต. เพื่อให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ( อบจ.) ไปศึกษาในเรื่องของเส้นทาง ขนส่ง คมนาคม หรือ “โลจิสติก”เพราะโครงการขนาดใหญ่อย่างเมืองต้นแบบที่ 4 เมื่อเกิดขึ้น ผลกระทบในเรื่อง การขนส่ง คมนาคม ต้องมีอย่างแน่นอน จึงได้มีการศึกษา ผลกระทบ เพื่อที่จะได้ทำการป้องกัน และสร้างโครงข่าย คมนาคม ให้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น

มีการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ”แหล่งน้ำ” ทำการศึกษาการใช้น้ำของโครงการ เมืองต้นแบบ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับ คนในพื้นที่ เพื่อที่จะมีข้อมูล เพื่อใช้ในการ วางแผนรองรับการสร้างแหล่งน้ำ ให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น และคนในพื้นที่จะต้องไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของ น้ำกิน น้ำใช้ นั่นเอง

การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา คือเรื่องแรกๆ ที่ ศอ.บต. และ เอกชนผู้ลงทุน ได้มีการ ประสานงานกับ สถาบันการศึกษา ที่มีอยู่ในพื้นที่ของ จ.สงขลา เพื่อที่จะมีการ วางแผนร่วมกัน ในการ ผลิต นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ ตำแหน่งงาน ของ โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4”

เช่นเดียวกับเรื่องของ สุขภาวะอนามัย หรือเรื่องการ เจ็บป่วย เมื่อเมืองใหญ่ขึ้น คนมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีการตั้ง โรงพยาบาลศูนย์ในพื้นที่ เพื่อรองรับคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่ และคนในพื้นที่โดยเฉพาะใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา นั่นคือ อ.จะนะ เทพา นาทวี และ สะบ้าย้อย ซึ่งเป็น 4 อำเภอ ที่ยังอยู่ในโซนของความมั่นคง หรือพื้นที่ ซึ่งยังมีการก่อการร้าย แผนการในเรื่อง “สุขอนามัย” ของ ประชาชน ที่มีการประชุมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี สาธารณสุขจังหวัด เป็น แม่งาน คือการ ก่อสร้าง โรงพยาบาลศูนย์ ที่ อ.จะนะ ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าว มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว

แม้แต่ โรงเรียนเอกชน สอนศาสนา ในพื้นที่จำนวน 20 กว่าโรง ก็ได้มีการ ประชุมร่วม เพื่อที่จะให้ โรงเรียน และนักเรียน ได้รับประโยชน์ จากการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” เช่นการสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในเบื้องต้น และนักเรียนที่จบออกไป ต้องมีงานทำ เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าในด้าน สิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่ เอ็นจีโอ นำมาเป็นเงื่อนไข ในการต่อต้านโครงการนี้นั้น วันนี้แผนการจัดการกับเรื่องของ สิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องของงบประมาณ เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งมีคณะต่างๆ ที่เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมในการ ดำเนินการตามขบวนการของ สิ่งแวดล้อม

สุดท้าย คือการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ซึ่ง ศอ.บต. ยึดหลักการของการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยผ่านสภาสันติสุขตำบล ซึ่งมีตัวแทนของคนในพื้นที่เป็นกรรมการ เพื่อเสนอความคิดเห็น แก้ปัญหาความไม่เข้าใจ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นจริง สร้างความเข้าใจ กับกลุ่มที่”เห็นต่าง” กับโครงการ และ มีการจัดตั้ง กลุ่มผู้นำ ในพื้นที่ เช่น กลุ่มสตรี –เยาวชน สภาเด็ก และอื่นๆ ในพื้นที่ 3 ตำบล เพื่อให้ เขาคิดเอง ทำเอง โดย ศอ.บต. จะดำเนินการสนับสนุนงบประมาณ

ต่อไป จะมีการจัดตั้งสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีคนในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ และจะมี”ธรรมนูญชุมชน” เพื่อ รองรับโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” เพื่อให้ ประชาชนมีความ อุ่นใจ และมีส่วนร่วม ในทุกขั้นตอน ที่สามารถ ตรวจสอบในทุกเรื่องได้

ในอีกส่วนที่เป็นความสำคัญ ที่บ่งบอกถึงความ ก้าวหน้าของโครงการ เมืองต้นแบบที่ 4 คือ ภาครัฐอยู่ระหว่างการแต่งตั้งบอร์ดที่ปรึกษาของโครงการ โดยมี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต. และ ตัวแทนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็น เลขานุการ

ทั้งหมดคือความ ก้าวหน้า ของโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ซึ่งในส่วนของผู้ที่ เห็นด้วย ที่จะให้มีโครงการดังกล่าว เพื่อให้ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้มีโอกาส เติบโต และ พัฒนา ในด้าน อุตสาหกรรม คงจะมีความ มั่นใจขึ้นว่า “เมืองต้นแบบที่ 4” จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

You may have missed