กรมส่งเสริมการเกษตร รุกพัฒนาการเกษตรชายแดนภาคใต้สู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร รุกพัฒนาการเกษตรชายแดนภาคใต้สู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

 


นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานบูรณาการงานส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 1 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรม การ์เด้น วิว เบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นการสรุปผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และอภิปรายแนวทางการบูรณาการโครงการ/กิจกรรมของกองและสำนักต่างๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร

เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการทำงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน จากนั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยนายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งมิติการพัฒนาเกษตรกร สินค้า และการพัฒนาพื้นที่ ของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้แก่ การดำเนินงานกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเทศบาล 2 บ้านกาแป๊ะกอตอ การผลิตกาแฟโดยวิธีดั้งเดิมของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร (ผู้ผลิตโกปี๊วังเก่า) แปลงใหญ่ส้มโชกุน

การทำเกษตรผสมผสานแปลงต้นแบบบ้านนายวิทยา ตาพ่วง การเลี้ยงปลาในสายน้ำไหลและการส่งเสริมปลูกไม้ดอกเมืองหนาว กลุ่มขยายผลโครงการไม้ดอกเมืองหนาว ตำบลตาเนาะแมเราะ ซึ่งได้ผลิตไม้ดอก ไม้กระถาง และไม้มงคล เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย เยอบีร่า คุณนายตื่นสาย บีโกเนีย เดหลี หน้าวัวแคระ ฤาษีผสม เศรษฐีรวยทรัพย์ เศรษฐีเรือนนอก ลิ้นมังกรแคระ บอนสี แก้วหน้าม้า ถือเป็นการขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ด้านความมั่นคง


รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การพัฒนาด้านการเกษตรในพื้นที่อำเภอเบตง นั้น ต้องเชื่อมโยงเรื่องการผลิตอาหาร การท่องเที่ยว เข้าด้วยกัน เพราะเป็นเมืองที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น มีสนามบินนานาชาติที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ มี sky walk จุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าหลังจากสถานการณ์ covid –19 คลี่คลายลง นักท่องเที่ยวจะเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในเบตงมากขึ้น กอปรกับมีด่านพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย สามารถส่งสินค้าไปยังต่างประเทศได้

ทั้งนี้สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง ภูมิอากาศคล้ายภาคเหนือของไทย สามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้หลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ อะโวกาโด ไม้ดอก กาแฟ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวจากภายนอก และเป็นแหล่งอาหารของประชาชนในพื้นที่เองที่ยังผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค ดังนั้นในการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร ต้องมีทางเลือกใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเบตงด้วย เช่น เอกลักษณ์การเลี้ยงไก่เบตง การทำสวนส้มโชกุน การปลูกทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนมู ซานคิง ทุเรียนโอวฉีหนามดำ การขยายพื้นที่ปลูกกาแฟและอนุรักษ์วิธีการแปรรูปแบบดั้งเดิม

โดยใช้เพิ่มการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตควบคู่กัน เช่น การจัดการระบบน้ำในระดับไร่นา การทำแปลงเกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาอาชีพของชุมชนและถือเป็นการปลูกฝังเยาวชนทายาทด้านการเกษตรในอนาคตอีกด้วย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา