สงขลา-จับลิงแสม กว่า 200 ตัว มาผ่าตัดทําหมัน ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเขาน้อยและเขาตังกวน ตามโครงการแก้ไขปัญหาลดผลกระทบของลิง
สงขลา-จับลิงแสม กว่า 200 ตัว มาผ่าตัดทําหมัน ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเขาน้อยและเขาตังกวน ตามโครงการแก้ไขปัญหาลดผลกระทบของลิง ที่ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน หวังลดประชากรลิงที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยตั้งเป้าทำหมันลิงในครั้งนี้ 400 ตัวทั้งตัวผู้และตัวเมีย
ที่ บริเวณช่องเขาน้อย-เขาตังกวน เขตเทศบาลนครสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีฝูงลิงแสมเป็นจำนวนมาก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมเดินทางนำครอบครัว มาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากโดยซื้ออาหารทั้งกล้วย ถั่วและข้าวโพด ให้ลิงและนกพิราบกินอย่างต่อเนื่องและเนื่องจากในขณะนี้ประชากรลิงบริเวณเขาน้อย-เขาตังกวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายพันตัว หากไม่ลดประชากรลิงลงก็จะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน
วันนี้ (14 ก.ย. 63) นายสุวัฒน์ สุขศิริ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่ / หัวหน้าชุดปฏิบัติการและสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นําลิงแสมกว่า 200 ตัว ที่ดักจับมาได้จากเขาน้อยและเขาตังกวน เขตเทศบาลนครสงขลา มาทำการผ่าตัดทําหมัน ตามโครงการแก้ไขปัญหาลดผลกระทบของลิงที่ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน เพื่อลดประชากรลิง ภายหลังฝูงลิงมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายพันตัวทั้งเขาน้อยและเขาตังกวน และได้ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่มีบ้านเรือนติดกับชายเขาน้อยและเขาตังกวน ในขณะนี้ฝูงลิงกระจายกันออกหาอาหารเข้ามาในตัวเมืองสงขลาหลายจุด เนื่องจากอาหารไม่เพียงพอกับประชากรลิง แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาให้อาหารบริเวณช่องเขาน้อยและเขาตังกวนทุกวันแต่ก็มีจำนวนไม่มากเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ลิงต้องออกไปหาอาหารกินประทังชีวิตตามถังขยะ บ้านเรือนประชาชนและไปรื้อค้นทำลายทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
ในการดักจับลิงเพื่อนำไปทําหมัน จะใช้กรงใส่อาหารลิงและเปิดกรงให้ลิงเข้าไปกินอาหารนำไปวางไว้ใกล้ป่าเชิงเขา เมื่อลิงเข้าไปกินอาหารฝากรงก็จะดีดปิดเมื่อลิงไปถูกสลักที่ติดตั้งไว้ในกรงขณะดินอาหาร แบบเดียวกับกรงดักหนูแต่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า หลังจากดักจับลิงได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะใช้ยาสลบให้ลิงหมดสติ ก่อน มีการทำประวัติสักเบอร์ บริเวณท้องแขนลิงก็จะมีรหัสจังหวัด รหัสปีพ.ศ. ตามด้วยเลขประจำตัวลิง แล้วทำประวัติถ่ายรูปลิงแต่ละตัว รวมทั้งวัดขนาดด้วย หลังจากนั้นก็จะนํามาส่งให้ทีมสัตวแพทย์ทําการผ่าตัดทําหมัน ทั้งตัวผู้และตัวเมีย และพักฟื้น ก่อนนําไปใส่ในกรงเพื่อดูอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเสร็จแล้ว ประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง หากไม่มีอะไรมาแทรกซ้อนลิงทั้งหมดก็จะถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติกลับไปที่เขาน้อยและเขาตังกวนซึ่งเป็นถิ่นเดิมของมัน ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา คอยช่วยกันดักจับลิงมาฉีดยาสลบ
โดยโครงการแก้ไขปัญหาลดผลกระทบของลิงที่ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน สำหรับภาคใต้ดำเนินการโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ในการแก้ปัญหาลิง ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 7 – 16 กันยายน 2563 โดยตั้งเป้าทำหมันลิงไว้ทั้งหมด 400 ตัวในการทำหมันลิง ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ถึงวันที่ 13 กันยายน 2563 ได้ทำหมันลิงไปแล้ว กว่า 200 ตัว โดยมีนายสุวัฒน์ สุขศิริ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการในครั้งนี้
นายสุวัฒน์ สุขศิริ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า เหตุที่ต้องนําลิงที่ดักจับมาได้จากเขาน้อยและเขาตังกวน เขตเทศบาลนครสงขลา มาทําหมัน เพราะต้องการควบคุมประชากรของลิงแสม ที่มีมากจนเกินไป หากปล่อยไว้โดยไม่ควบคุม ต่อไปอาจจะเกิดปัญหาฝูงลิงมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายพันตัวทั้งเขาน้อยและเขาตังกวน และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่มีบ้านเรือนติดกับชายเขาน้อยและเขาตังกวน
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา