ป.ป.ช. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สมาชิกชมรม “STRONG” เขตพื้นที่ภาคใต้ มุ่งสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

ป.ป.ช. จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต (ภาคใต้) สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการมีส่วนร่วมต้านทุจริต (สสร.) จัดโครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ตามแผนงานสนับสนุนการบริหารโครงการและการติดตามประเมินผล กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต (ภาคใต้) สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อเป็นการปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งความละอายมุ่งสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต สร้างเครือข่ายประชาชนรวมถึงทุกภาคส่วนภายในจังหวัด ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 180 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กรรมการ สปท.), คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำภาค 8 (จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต) และภาค 9 (จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.

กิจกรรมในวันแรก นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการ การมีส่วนร่วมต้านทุจริต กล่าวรายงาน โดยมี นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ชมรม STRONG ป.ป.ช. เสริมสร้างพันธสัญญาองค์กร ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” หลักจากนั้นจะเป็นการอภิปราย “โค้ชกับบทบาทการพัฒนาคน” และ “การใช้ระบบและแอปพลิเคชั่น WE STRONG สำหรับชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”

สำหรับวันที่สอง รองศาสตราจารย์ ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. บรรยาย หัวข้อ “ก้าวต่อไป ปี 2564 STRONG ก้าวสู่… STRONGER” และมอบโล่ STRONG แก่ชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต จำนวน 14 จังหวัด จากนั้นเป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานระหว่างภูมิภาค หัวข้อ “ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ของชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต” โดยผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9

และการอภิปรายกลุ่มระหว่างชมรม STRONG ประจำจังหวัดในภาคใต้ หัวข้อ “1 ชมรม 1 ผลงานโดดเด่น (One STRONG One Success : OSOS)” เพื่อร่วมกันคัดเลือกผลงานโดดเด่นของชมรมฯ และในวันสุดท้ายจะมีการนำเสนอผลการคัดเลือกผลการดำเนินงานของชมรมฯ ประจำภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

การจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต (ภาคใต้) สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ด้วยการสร้างเสริมให้บุคคลและชุมชนมีจิตพอเพียงต้านทุจริตด้วยกรอบ STRONG จนกระทั่งพัฒนาเป็นวัฒนธรรมต้านทุจริต ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังจิตพอเพียงต้านทุจริตด้วยโมเดล STRONG แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งความอายและไม่ทนต่อการทุจริตแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อขยายผลการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อขยายผลการรับรู้การทุจริตต่อประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด และร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือชมรมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ โดยไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต ถือเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจด้านป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสอดคล้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหน้าที่และอำนาจแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับภารกิจการป้องกันการทุจริต ด้วยกลไกที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. การกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต

2. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

3. การป้องกันเหตุที่อาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต (ปักหมุด)

เกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน คณะกรรมการ สปท. ตามมาตรา 33 มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยการกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นต่อการดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือพยานหลักฐานสำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยช่องทางดังกล่าวต้องมีวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริต รวมถึงค่านิยมที่เน้นการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในสังคม เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังต้องรับรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อนําไปปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสํานักงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น @สื่อช่อสะอาด