( รายงานพิเศษ ) ศอ.บต.และ เอกชนผู้ลงทุน ยังต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วนในการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4”

( รายงานพิเศษ ) ศอ.บต.และ เอกชนผู้ลงทุน ยังต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วนในการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4”

 

การขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) รับหน้าที่ในการ”ขับเคลื่อน” ตาม มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต. อันเป็นไปตามมติของ ครม. ในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ณ วันนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของขบวนการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ส่วน “เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” จะเกิดได้หรือไม่ได้ อยู่ที่การตัดสินใจของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ ไม่ใช่อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

และแม้ว่าวันนี้ ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากที่ เห็นด้วย และ ต้องการเห็น ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยโปรเจกใหญ่ๆ เพื่อรองรับ คนรุ่นใหม่ ที่จบการศึกษาปีละ 75,000 กว่าคน รวมทั้งคนที่จบมาแล้วแต่ยัง”ตกงาน” และประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่”ว่างงาน” และในอนาคตจะว่างงานมากขึ้นจากพิษสงของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจาก”โควิด 19”
แต่…ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง แม้จะเป็น”กลุ่มน้อย” ที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับการพัฒนาพื้นที่ด้วย”อุตสาหกรรม” โดยยังมองถึงเรื่องของ”โลกสวย น้ำใส” อยู่กับธรรมชาติในวิถีชุมชนดั้งเดิม ซึ่งแม้ว่าผู้”เห็นต่าง” กลุ่มนี้ จะมีเพียง”หยิบมือ” แต่ ศอ.บต. ก็ต้องให้ความสำคัญ ในการสร้างความเข้าใจเช่นกัน


โดยข้อเท็จจริง ก็ต้องแสดงความเห็นใจกับคนในพื้นที่อำเภอจะนะ ไม่เฉพาะ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน เท่านั้น แต่เป็นคนทั้งอำเภอ ที่แม้จะเห็นด้วย และสนับสนุน แต่ก็ยังไม่มั่นใจในหลายๆกรณี อย่างเช่นเมื่อมี”เมืองต้นแบบที่ 4” เกิดขึ้น คนในอำเภอจะนะจะได้ทำงานในโรงงานเหล่านี้หรือไม่ คนในพื้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงหรือไม่ มีตำแหน่งงานจำนวนมากอย่างที่ “เอกชน” เจ้าของโครงการได้บอกกับคนในพื้นที่จริงหรือไม่ จะมีโรงพยาบาลศูนย์เกิดขึ้นที่ เพื่อให้บริการด้านสุขอนามัยจริงหรือไม่ และก่อนที่ เมืองต้นแบบจะเกิดขึ้น จะมีการพัฒนาโครงการพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นก่อนจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ ยังต้องการคำตอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้มากยิ่งขึ้น


สาเหตุที่คนในพื้นที่ ซึ่งเห็นด้วยและสนับสนุนโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ยังต้องการให้ ศอ.บต. และ เอกชน ที่จะมาลงทุน ให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมานั้น เมื่อครั้งที่ โครงการท่อก๊าซ ไทย-มาเลย์ เกิดขึ้นที่ ต.ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่ร่วมทุนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ก็มีการสร้างความเข้าใจกับชาวอำเภอจะนะ ว่าคนจะนะจะมีงานทำ ได้ใช้ก๊าซราคาถูกกว่าท้องตลาด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง
เช่นเดียวกับการมาถึงของ โรงไฟฟ้าจะนะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ( กฟผ.) ทั้งโรงที่ 1 และโรงที่ 2 ก็มีการให้ความหวังกับคนในอำเภอจะนะถึงเรื่องการมีงานทำ แต่สุดท้ายคนที่ได้งานจริงๆ เป็นคนจากที่อื่นๆ ส่วนคนในพื้นที่ยังไม่มีโอกาส ยังว่างงาน และยังต้องเดินทางไป ขายแรงงาน ในประเทศมาเลเซียเช่นเดิม


เหตุผลหนึ่งที่ คนในพื้นที่ไม่สามารถได้งานทำในโครงการทั้ง 2 โครงการ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนจะนะก็คือ โครงการดังกล่าวใช้พนักงานที่มีความรู้หรือเรียนจบมาในคณะหรือสาขาที่ตรงกับความต้องการของโรงงาน แต่คนในพื้นที่ไม่มีคุณสมบัติที่โรงงานต้องการ งานที่คนในพื้นที่ได้ทำ จึงเป็นงานการใช้แรงงาน และอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า การเกิดขึ้นของ โครงการใหญ่ๆ ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนจะนะเท่าที่ควร
ครั้งนี้ ศอ.บต. รู้ลึกถึงปัญหานี้ดี ก่อนเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” จึงได้จัดทำแผนการศึกษาในพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับ ความต้องการแรงงานของ เอกชน โดยให้เอกชนผู้ลงทุนได้วางแผนร่วมกับ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้รายละเอียด ข้อมูลต่างๆ ของโครงการ เพื่อให้ สถานศึกษาในพื้นที่ สามารถผลิตนักศึกษาที่ตรงกับสาขาที่โรงงานต้องการ นี่ก็เป็นการสร้างความมั่นใจในระดับหนึ่งให้กับ นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ได้มั่นใจว่า จบแล้วไม่ตกงาน นั่นเอง


แต่..ในการทำความเข้าใจด้านอื่นๆ ศอ.บต. และ เอกชน ผู้ลงทุนยังต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เห็นความชัดเจน และความคืบหน้าของโครงการที่เป็นความก้าวหน้าเชิงประจักษ์ เช่นการทำข้อตกลงหรือ เอ็มโอยู กับสถาบันการศึกษา กับโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่เพื่อการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อบริการคนในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา การเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาแรงงานฝีมือ และเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญคือการ สร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นในเรื่องของ อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมที่ไม่มี”ปิโตรเคมี” เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ ต้องมีการ”ตอกย้ำ” ต้องมีการ ผลิตซ้ำ ซึ่งเหมือนกับการรายงานความก้าวหน้า ดังนั้นผู้รับผิดชอบในการ”สื่อสารกับสังคม” ต้องดำเนินการสร้างความเข้าใจ สร้างความเชื่อมันอย่างต่อเนื่อง อย่าทำแบบ ปลิวๆหายๆ จนกลายเป็น”ช่องว่าง” ให้ฝ่ายที่ ต่อต้าน นำไปเป็นประเด็นในการสร้าง”ข่าวเท็จ” เช่น โครงการเมืองต้นแบบ ถูกผู้มีอำนาจสั่งให้ ชะลอโครงการไปแล้ว อย่างที่ เอ็นจีโอ ได้ทำอยู่ในตอนนี้

และที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ได้มีการกลุ่มคนในภาคประชาสังคม และคนของ”ทางการ” บางคน บางกลุ่ม เริ่มเข้าไปสร้างกลุ่มผู้”เห็นต่าง”เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะเข้าใจว่า โครงการนี้”เอกชน” ผู้ลงทุนมีงบประมาณจำนวนมาก จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ทางอ้อม ซึ่งหาก ศอ.บต. ไม่เร่งปิด”จุดอ่อน” ตรงนี้ อาจจะกลายเป็นสร้างปัญหาการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ 4 ให้ ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น จากการกระทำของ พวกเรา กันเอง
อย่าลืมว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ นอกจากทำให้การเดินหน้าของโครงการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และ ราบรื่นแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับ กลุ่มทุน กลุ่มอื่นๆ ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ซึ่งต่างรอความชัดเจนของ”เมืองต้นแบบที่ 4” อยู่ ถ้าทุกอย่างชัดเจน เป็นไปได้ การลงทุนด้านต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับ “เมืองต้นแบบที่ 4” ก็จะเกิดขึ้นอีกมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เป็นการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในพื้นที่ทั้งสิ้น

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

You may have missed