(รายงานพิเศษ) ความก้าวหน้าของเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา
(รายงานพิเศษ) ความก้าวหน้าของเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา
หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติเป็นหลักการ การขยายผลเมืองต้นแบบ”สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สู่เมืองต้นแบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อยกระดับให้เป็น”เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เมื่อ วันที่ 7 พ.ค. 2562 และมอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบในการ ขับเคลื่อน เพื่อให้เป็นไปตาม มติ.ครม.
อันดับแรกที่ ศอ.บต. โดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. และคณะทำงาน ได้ดำเนินการในทันทีคือการ ทำความเข้าใจกับประชาชน ในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ เมืองต้นแบบที่ 4 ก่อน คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งเป็นกลุ่มคนอันดับแรกๆ ที่จะต้องมีส่วนร่วม ในการ”ออกแบบ” รวมกัน ของเมืองต้นแบบที่ 4 แห่งนี้ ระหว่าง ศอ.บต. กลุ่มทุน และ ชาวบ้าน ในฐานะที่เป็น”หุ้นส่วน” ผู้ที่ต้อง “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” ในอนาคต
การทำความเข้าใจกับชาวบ้านใน 3 ตำบล โดย”กลุ่มเสื้อเขียว” ซึ่งเป็น ภาคประชาชน ที่ทำงานด้านการสร้างความเข้าใจระหว่าง รัฐกับประชาชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยการร่วมมือกับ ตัวแทนชาวบ้าน ใน 3 ตำบล ที่มาจากภาคประชาชนทุกภาคส่วน และบัณฑิตอาสา ซึ่งเป็นตัวแทนของ ศอ.บต.ที่ทำหน้าที่ ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน
รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อไปพบปะกับ ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการความมั่นใจ และต้องการไขข้อข้องใจ
โดย พล.ร.ต.สมเกียรติฯ และ คณะเช่น นายธัญชน แสงพุ่ม รองเลขาธิการ และ ผู้ช่วยเลขาธิการ ที่เป็นคณะ ขับเคลื่อน เมืองต้นแบบที่ 4 เพื่อสร้างความสบายใจให้กับประชาชน ว่าโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” จะไม่สร้างปัญหาของ “มลภาวะ”เหมือน ที่เมืองอุตสาหกรรม”มาบตาพุด” อย่างที่ เอ็นจีโอ ได้ให้ข้อมูลกับ ประชาชนกลุ่มที่”เห็นต่าง” ในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 คน และ ขอความมั่นใจว่า “เมืองต้นแบบที่ 4” ตัวแทนประชาชนต้องมี”ส่วนร่วม” รวมทั้งต้องได้ประโยชน์ในเรื่อง”การมีงานทำ”และการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็น”หัวใจ” และเป็น ประเด็นหลัก ที่คนในพื้นที่ต้องการ
และประเด็นที่ 2 ที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการก่อนที่จะเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” คือการยกระดับชีวิตของประชาชนใน 3 ตำบล ตามสภาพของข้อเท็จจริงของพื้นที่และของปัญหา เช่น ต.นาทับ จะดำเนินการสร้าง ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วม ,ผลิตภัณฑ์การเกษตรมีคุณภาพ,ระบบการศึกษาได้มาตรฐาน เน้นการสร้างแรงงานตรงความต้องการของตลาด ต.สะกอม เน้นการสร้างคุณภาพชีวิตมั่นคงทุกช่วงวัย,คุณธรรมนำชีวิต กิจกรรมศาสนามั่นคง,อุตสาหกรรมสีเขียว ประชาชนมีส่วนร่วม และบริษัทพันธกิจชุมชนสะกอม ส่วน ต.ตลิ่งชัน คือ อุตสาหกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเข้าไปดำเนินการตามแนวทางของ “สภาสันติสุข” ขนาดเล็ก ในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล เพื่อต่อยอดการพัฒนาอาชีพต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ให้ มั่นคง ถาวร ยิ่งขึ้น
และสิ่งที่ ศอ.บต. เข้าไปดำเนินการ ก่อนที่จะเกิด”เมืองต้นแบบที่ 4” คือการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ที่ดินอยู่อาศัย ให้กับคนในพื้นที่ คือการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมป่าไม้ ในการ สำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ ในที่ดินทำกินให้กับประชาชน เนื่องจาก ที่ดินส่วนใหญ่ ที่ประชาชนใช้ทำประโยชน์ และที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งไม่มี เอกสารสิทธิ์ เพราะเป็นป่าสงวน เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ และส่วนหนึ่งอยู่ใน เขตห้ามล่าฯ เป็นต้น ซึ่งคนในพื้นที่เรียกร้องมานานหลายสิบปี เพื่อต้องการ เอกสารสิทธิ ในที่ทำกิน ซึ่ง ศอ.บต. ต้องการเห็นทุกคน มีสิทธิในที่ดินทำกินที่อยู่กันมาชั่วอายุคน เพื่อให้ มั่นใจว่า รัฐจะไม่ใช้กฎหมาย ยึดที่ดินที่เป็นของรัฐกลับคืน
และสุดท้ายสิ่งที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการตามแนวทาง รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ 3 ตำบล ที่ห้องประชุม โรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ โดยมีประชาชนกว่า 1,500 คน จากมารวมแสงดความคิดเห็น ต่อโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” โดยมีตัวแทนจาก”กลุ่มทุน” และ ตัวแทนจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้( ศอ.บต.) ตอบข้อซักถามของคนในพื้นที่ ซึ่งบรรยากาศของเวทีการ รับฟังความคิดเห็น เป็นไปด้วยดี มีทั้งเห็นด้วยทั้งหมด และเห็นด้วยแต่มีข้อ วิตกกังวล ขอความมั่นใจ เช่น การมีงานทำของคนในพื้นที่ การมีส่วนของประชาชนต่อการดำเนินการของ”เมืองต้นแบบที่ 4” เป็นต้น
และก้าวต่อไปของ ศอ.บต. ที่จะต้องทำคือการ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการเปลี่ยนผังเมือง จากผังเมืองการเกษตรไปสู่ผังเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.จะนะ ซึ่งวันนี้ ศอ.บต. อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพื่อการรับรู้ และเพื่อการมีส่วนร่วม ในการที่จะมีเวทีให้คนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น หลังจากที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการเปลี่ยนผังเมือง ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า “เมืองต้นแบบที่ 4 “ หรือ”อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” มิได้หมายถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ พัฒนาเพื่อนายทุน แต่ ศอ.บต.หมายถึง อนาคตของลูกหลานประชาชนในพื้นที่ต้องอยู่อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี มีการศึกษาที่ดี และมีแหล่งงานรองรับในบ้านเกิด มีคุณภาพชีวิตที่ดี ครอบครัวอบอุ่น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง