สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำจากคลองหนองเสือ ลงสู่คลองรังสิต
สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำจากคลองหนองเสือ ลงสู่คลองรังสิต
เพื่อบรรเทาภัยแล้ง เพิ่มน้ำผลิตประปาให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ตอนบนแล้ว
เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทานได้มอบหมายให้นายสมชาย คงเมคี ผู้อำนวยการ ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 6 สำนักเครื่องจักรกล นำเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ลงพื้นที่ขุดลอกคลองหนองเสือ เปิดทางส่งน้ำลงสู่คลองรังสิต แก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ทั้งน้ำสำหรับการอุปโภค และบริโภค
โดยนายสมชาย คงเมคี ผู้อำนวยการส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 6 สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน กล่าวว่า สำนักเครื่องจักรกล มีพันธกิจรับผิดชอบงานของกรมชลประทาน ในการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและป้องกันภัยอันเกิดจากน้ำ ปีนี้กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งทุกพื้นที่
สำนักเครื่องจักรกลที่ 6 รับผิดชอบพื้นที่ 12 จังหวัดในภาคกลาง ปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ในพื้นที่ของสำนักชลประทานที่ 11,13 และ 14 จึงได้นำเครื่องจักร-เครื่องมือ และบุคลากร เข้ามาขุดลอกเปิดทางน้ำเพื่อแก้ปัญหาการขาดน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร ด้วยการเร่งระบายน้ำ เพิ่มเติมน้ำ จากหนองเสือคลอง 13 ลงสู่คลองรังสิต ส่งไปเพิ่มน้ำผลิตประปาให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร พื้นที่ฉะเชิงเทราและพื้นที่ปลายน้ำในช่วงฤดูแล้ง
ในภาวะวิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น กรมชลประทาน ยังฝากถึงพี่น้องประชาชนขอให้มีความมั่นใจ และไว้วางใจ ได้ว่า กรมชลประทานจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องประชาชนเด็ดขาด และจะทำหน้าที่สุดความสามารถเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน หากได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องในพื้นที่ สำนักเครื่องจักรกลพร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจปัญหาได้ภายใน2 ชั่วโมง และภายใน 24 ชั่วโมงจะสามารถนำเครื่องจักรกลเข้าไปเปิดทางส่งน้ำหรือสูบน้ำได้
นายสมบูรณ์ เจิมไทย หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 3 โครงการรังสิตเหนือ กล่าวว่า กรมชลประทานมีแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำดื่มน้ำใช้ให้ครบช่วงฤดูกาล รวมทั้งแบ่งน้ำสำหรับการเกษตรกรรม เพื่อไม่ให้พืชผลด้านการเกษตรเสียหาย โดยในช่วงวันที่ 26-30 มกราคม 2563 กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับทำน้ำประปา หลังจากนั้นจะจัดรอบเวรส่งน้ำให้กับเกษตรกรโดยรอบด้วย
ทั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า ปีนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งกรณีฉุกเฉินแล้ว 14 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 420 ตำบล 3,785 หมู่บ้าน เฉพาะภาคกลางมี 3 จังหวัด ถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี รวม 16 อำเภอ 80 ตำบล 649 หมู่บ้าน ที่มีปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือน มิ.ย. มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีนับจากปี 2522 เป็นต้นมา โดยคาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน